เป็นเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้ว สำหรับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีอู่ตะเภา ซึ่งก็อธิบายไว้แล้วว่าเหตุใด จึงไม่มีความจำเป็นในการเอา คดีอู่ตะเภาให้องค์คณะใหญ่ตัดสิน

นอกจากนี้การที่หลายฝ่ายเคลื่อนไหวอย่างหนัก กรณีซีพีกลับสู่กระบวนการพิจารณาหาผู้ชนะที่เสนอประโยชน์สูงสุดให้ประเทศ ทั้งที่ไม่ได้หมายความว่าซีพีจะชนะ แต่กลับกลัวการเปิดซองการเงิน โดยไม่ยอมใจเย็นรอการเปิดซอง ทั้งที่ทุกฝ่ายออกมาบอกว่า เคารพการตัดสินของศาล เพื่อให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้ ในรายละเอียดปัญหาข้อพิพาทระหว่างกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย 1. บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี 2. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) 4. บี.กริม จอยน์ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และ 5. Orient Success International Limited ยื่นฟ้องคดีคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่มีมติไม่รับซองข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ และซองข้อเสนอด้านราคา โดยอ้างว่ากลุ่มธนโฮลดิ้งยื่นหลังเวลาที่กำหนด ซึ่งล่าสุดศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้กลุ่มธนโฮลดิ้งชนะคดี สามารถกลับเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคัดเลือกต่อไปได้

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมคดีไม่ถูกนำเข้าที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ในเรื่องนี้ ตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีปกครองบัญญัติไว้ว่า ถ้าประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควรจะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ก็ได้ โดยมีเกณฑ์พิจารณาว่า ต้องเป็นคดีในลักษณะหนึ่งลักษณะใดดังต่อไปนี้

  1. คดีที่เกี่ยวข้องกับประชาชนเป็นจำนวนมากหรือประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ
  2. คดีที่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับหลักกฎหมายปกครองที่สำคัญ
  3. คดีที่อาจมีผลเป็นการกลับหรือแก้ไขแนวคำพิพากษาเดิมของศาลปกครองชั้นต้นหรือศาลปกครองสูงสุด
  4. คดีที่มีทุนทรัพย์สูง

จากข้อมูลข้างต้น มีแง่มุมที่ควรต้องหาคำตอบและทำความเข้าใจ ก่อนจะตัดสิน (ใจ) ด้วยตัวเองว่า ควรนำเรื่องเข้าที่ประชุมใหญ่หรือไม่ ดังนี้

  1. ถือว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก หรือประโยชน์สาธารณะ หรือยัง??? ด้วยเพราะขณะเกิดเหตุ ยังไม่กระทบผลประโยชน์สาธารณะ ยังไม่ได้ตัวผู้ชนะประมูล ยังไม่ได้ทำสัญญา ยังไม่ได้ก่อสร้าง การคิดคำนวณเกี่ยวกับผู้โดยสาร เป็นเพียงการคาดการณ์ในเชิงพาณิชย์และการคุ้มทุน รวมทั้งหากทำโครงการได้สำเร็จกิจการนี้ก็ไม่ใช่ “การบริการสาธารณะ” …แง่มุมนี้ชัดเจนว่า ยังไม่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก!!!
  2. เรื่องนี้เป็นการวินิจฉัยเกี่ยวกับหลักกฎหมายปกครองสำคัญหรือไม่ …อันนี้หากดูให้ดี ๆ ก็ชวนให้คิดได้ว่า เป็น “การวินิจฉัยข้อเท็จจริงแห่งคดี” มากกว่า การวินิจฉัยหลักกฏหมายปกครอง ซึ่งกรณีนี้เป็นเรื่องของจุดอ่อนด้านกระบวนการ วิธีการ ที่ชัดเจนว่ากระบวนการในการตรวจรับในวันนั้น เริ่มกระบวนการตรวจรับหลัง 15:00 น. ทั้ง 3 ราย …ทำให้เห็นได้ว่า ไม่เกี่ยวกับการวินิจฉัยกฎหมายปกครอง!!!
  3. เรื่องนี้เป็นการกลับหรือแก้คำพิพากษาของศาลปกครองเดิมหรือไม่ …คำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะศาลชั้นต้นพูดถึงเวลามาส่งเอกสารล่าช้า แต่ประเด็นควรพิจารณาขององค์คณะศาลปกครองสูงสุด คือ การลงทะเบียนก่อนเวลา ตั้งแต่ 12:20 น. และ กระบวนการรับเอกสารของกรรมการ ไม่ได้ใช้เวลาเป็นสาระสำคัญ เพราะให้ทุกรายรอในห้องรับรอง เริ่มเรียกรับเอกสารหลัง 15:00 น. ทีละราย ซึ่งหลักการพิจารณาคดีจาก “ข้อเท็จจริงและความสมบูรณ์ รัดกุม” ที่ปรากฏ แล้วนำไปสู่การวินิจฉัย ตัดสินก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายกำหนดให้ศาลปกครองสูงสุด มีอำนาจในการวินิจฉัยให้ ยืน กลับ แก้ ยกคำพิพากษา (สั่งให้ทำใหม่ ให้พิจารณาใหม่) รวมทั้งการยกคำอุทธรณ์ ก็ได้ …แง่มุมนี้ก็น่าสนใจ!!!

“ศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจพิพากษายกอุทธรณ์ ยืน กลับ หรือ แก้คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นได้ รวมทั้งมีอำนาจสั่งยกคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น แล้วส่งสำนวนคดีคืนไปให้พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ หรือกำหนดให้พิจารณาคดีนั้นใหม่ทั้งหมดหรือบางส่วน แล้วพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ หรือดำเนินการตามคำชี้ขาดของศาลปกครองสูงสุด แล้วพิพากษาหรือมีคำสั่งไปตามรูปคดี นอกจากนั้น หากศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า คำอุทธรณ์ใดมีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย จะสั่งไม่รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาก็ได้”

อ้างอิง: เว็บไซต์ศาลปกครอง. ข้อควรรู้เกี่ยวกับการฟ้องคดีปกครอง. การดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีปกครอง. การอุทธรณ์ [11 มี.ค. 2556]. สืบค้นจาก : http://admincourt.go.th/admincourt/site/02judicial.html?page=02judicial_757

  1. เรื่องนี้เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์สูงหรือไม่ …ก็ยังมีประเด็นพิจารณาได้ว่า เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการประมูล ยังไม่เกิดความเสียหายที่มีทุนทรัพย์สูง ยังไม่รู้ผลว่าฝ่ายใดจะเสนอราคาเท่าใด ยังไม่มีการต่อรองราคา ยังไม่มีการทำสัญญา ดังนั้น มูลค่าหรือทุนทรัพย์ของโครงการอาจถือได้ว่า ยังไม่ชัดเจน …แง่มุมนี้ก็น่าสนใจ!!!

ความเข้าใจของสังคมส่วนใหญ่ อาจจะอยู่ในชุดความคิดที่เรียกว่า “เข้าใจง่าย” คือ …ยื่นซองเกินเวลา ก็หมดสิทธิ์… ควรนำเรื่องไปพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ ตุลาการศาลปกครอง …แต่หากใครติดตามคดีนี้อย่างพินิจพิเคราะห์ ก็จะเห็นถึงข้อเท็จจริงหลาย ๆ ประการที่มีนัยสาคัญ ถึงขั้นชวนให้คิด ต้องพิจารณากันอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ใช่ด่วนสรุปแบบง่าย ๆ เพราะถ้าคดีไม่มีความซับซ้อนละเอียดอ่อน ก็คงไม่ต้องสู้กันมาถึงชั้นศาลปกครองสูงสุดให้เสียเวลาพิจารณาเป็นแรมเดือน และที่สำคัญ สมควรต้องให้ความเชื่อมั่นและเคารพในการตัดสินของศาล


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน