วันที่ 15 มกราคม 2563 มีรายงานว่า คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนสนามบินอู่ตะเภา ผ่านข้อเสนอด้านเทคนิคของกลุ่ม “ซีพี” รอด่านสุดท้ายเปิดซองราคา 17 ม.ค.นี้ โดยทางคณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงมีมติเห็นชอบให้มีหนังสือแจ้งผลการประเมินข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) และเชิญกลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตรเข้าร่วมการเปิดเอกสารข้อเสนอซองที่ 3 (ข้อเสนอด้านราคา) ในวันที่ 17 ม.ค. 2563 โดยมีมติให้มีหนังสือเชิญผู้ยื่นข้อเสนอรายที่ 1 กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส และ ผู้ยื่นข้อเสนอรายที่ 2 กลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เทียม เข้าร่วมการเปิดซองข้อเสนอในวันดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย ทำให้เกิดกระแสข่าวราคาแข่งกันสูงลิบ กว่าราคาขั้นต่ำที่คณะกรรมการตั้งไว้ที่ 59,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีสื่อหลายสำนักเสนอข่าว กลุ่มบีบีเอส นำโดย “เจ้าสัวคีรี-หมอเสริฐ-ตระกูลชาญวีรกูล” ทุ่ม 3.05 แสนล้าน จ่ายค่าสัมปทานพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา สูงกว่าผลตอบแทนขั้นตํ่าที่รัฐกำหนดถึง 2.46 แสนล้าน ขณะที่กลุ่มแกรนด์คอนซอร์เตียม เสนอผลตอบแทนให้รัฐ อยู่ที่ 1 แสนล้านบาท นอกจากนี้บางสื่อได้พูดถึงตัวเลขของกลุ่มซีพีภายหลังได้สิทธิ์กลับสู่กระบวนการประมูลที่ 3.51 แสนล้านบาท แต่คำถามสำคัญคือ ใช้วิธีคิดแผนธุรกิจอย่างไร ซึ่งถือว่า บีบีเอสสูงกว่าที่รัฐคาดหวังไว้ถึง 2.46 แสนล้านบาท และกลุ่มซีพี หากแหล่งข่าวถูกต้อง เท่ากับเสนอสูงกว่าที่ภาครัฐต้องการถึง 2.92 แสนล้านบาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากทั้ง 2 กลุ่ม

หากใช้สมมุติฐานจากการดำเนินธุรกิจ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด ที่ให้บริการเชิงพาณิชย์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะพบว่า เมื่อเทียบรายได้ของ AOT ต่อจำนวนผู้โดยสาร แล้วนำมาใช้คำนวณหาจำนวนผู้โดยสารที่จะเพียงพอที่แบ่งส่วนแบ่งกำไรให้รัฐ 3-3.5 แสนล้านบาทนั้น จำนวนผู้โดยสารจะสูงกว่าที่ประมาณการจำนวนผู้โดยสารใน RFP อย่างมาก

จากรูปด้านบนของกระทู้ https://pantip.com/topic/39565086 จะเห็นได้ว่า รัฐได้ระบุการแบ่งรายได้ให้ภาครัฐขั้นต่ำอย่างน้อย 59,000 ล้านบาท เท่ากับผู้โดยสารในปีที่ 5 ต้องมีจำนวนอย่างน้อย 5 ล้านคน และค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนกระทั่งมีผู้โดยสาร 60 ล้านคนในปีที่ 50

แต่หากเป็นแบบที่กลุ่มซีพีเสนอมา ต้องมีผู้โดยสารทันทีในปีที่สร้างสนามบินเสร็จ อย่างน้อย 20 ล้านคนต่อปี และเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 250 ล้านคนต่อปี ในปีที่ 50

ในขณะที่กลุ่มบีบีเอส หากจะมีส่วนแบ่งให้รัฐได้ถึง 3.05 แสนล้านบาท ต้องมีจำนวนผู้โดยสารสูงถึง 20 ล้านคนในปีที่ 5 และสูงขึ้นสม่ำเสมอทุกปีจนถึง 200 ล้านคนในปีที่ 50 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก เปรียบเทียบให้ชัดคือ ปี 2561 ท่าอากาศสุวรรณภูมิ มีผู้โดยสาร 62.81 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 51.15 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 11.66 ล้านคน ทำให้เห็นได้ว่า ตัวเลขที่ทั้ง 2 กลุ่มเสนอมา หากจะทำให้สำเร็จ ต้องมีผู้โดยสารสูงกว่าสุวรรณภูมิถึงเกือบ 4 เท่า ซึ่งคำถามที่สำคัญคือ หากทำไม่สำเร็จ และโครงการล้ม ใครจะรับผิดชอบ “ค่าโง่” ถ้าตัวเลขที่เสนอมาทำไม่ได้จริง ความกดดัน คงไปตกที่คณะกรรมการ เพราะถ้ารู้ว่าจะถูกทำท้องแล้วทิ้ง จะปล่อยให้เกิดการทิ้งงานเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ หรือจะพิจารณากลุ่มแกรนด์ที่เสนอตัวเลขน้อยกว่า แต่มีความเป็นไปได้สูง และสูงกว่าราคาขั้นต่ำที่รัฐขอมาถึง 2 เท่า และนี่คือสิ่งที่ท้ายทายการพิจารณาของภาครัฐ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยค่าโง่ในอดีต จะได้ไม่ไปจบที่ ปปช. !!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน