ยกที่ 1 สังเวียนเดือดคลื่น 700 MHz

เริ่มต้นที่คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz จำนวน 3 ชุด ชุดละ 5 MHz รวม 15 MHz ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 440 ล้านบาท โดยในคลื่นนี้มีผู้เข้าประมูล 3 ได้แก่ “เอไอเอส ทรูมูฟ และ แคท เทเลคอม” ผลปรากฎว่า เวลาผ่านไปเกือบ 3 ชั่วโมง จนมาถึงรอบที่ 20 มีการเสนอความต้องการเท่ากับจำนวนที่จัดสรรแล้วที่ 3 ชุด โดยราคาคลื่นมาหยุดที่ 17,153 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีราคาประมูลที่แพงขึ้นมาก ต่างจากการประมูลคลื่น 700 ที่สำนักงาน กสทช.จัดประมูลไปเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2562 ที่ 3 ชุดใบอนุญาตๆละ 10 MHz โดยครั้งนั้น เอไอเอส ทรูมูฟ และดีแทคได้ไปคนละ 10 MHz ในราคาเท่ากันที่ 17,584 ล้านบาท แต่ครั้งนี้ การประมูลจัดสรรเพียงแค่ 5 MHz แต่กลับมีราคาถึง 17,153 ล้านบาท รวมกัน 3 ใบ เท่ากับ 51,459 ล้านบาท ถือว่าต้นทุนสูงมากในการให้บริการ

เอไอเอส แขวน แคท เทเลคอม บนดอยคลื่น 700 MHz

การประมูลในครั้งนี้ ลากกันไปถึงรอบที่ 20 ทำให้ แคท หมดเงินไปตั้งแต่คลื่น 800 MHz ได้ไปเพียงแค่ 10 MHz หมดลุ้นที่จะไปลุยต่อในการประมูลคลื่น 5G ที่ต้องไปสู้กับเอไอเอส และทรู ที่รอประมูลอยู่ในคลื่น 2600 MHz นอกจากนี้ยังทำให้ต้นทุนแคท เทเลคอม สูงตามไปด้วย ทำให้มีเคือง ไม่มาก ก็น้อย ในขณะที่เอไอเอสได้ไปแค่ 5 MHz ในราคา ถึง 17,153 ล้านบาท ก็ไปติดดอยเช่นเดียวกัน ทำให้คลื่นนี้ต้นทุนสูง ยากต่อการทำกำไร เมื่อรวมคลื่นย่านความถี่ต่ำทั้งหมด ทั้ง 700 850 และ 900 MHz เท่ากับเอไอเอสจะมีจำนวนคลื่นย่านความถี่ต่ำรวมทุกคลื่น 50 MHz ตามหลังกลุ่มทรูที่มีคลื่นย่านความถี่ต่ำ 70 MHz อยู่ 20 เมกะเฮิรตซ์

ทางหนี ทีไล่ กับ แคท เทเลคอม เตรียม MVNO คลื่น 700 MHz ให้แต้มต่อคู่แข่งเอไอเอส

แคท เทเลคอม แถลงข่าวหลังเสร็จสิ้นการประมูล โดย พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เลือกเข้าประมูลคลื่นย่าน 700MHz เพราะเป็นย่านความถี่ต่ำ ซึ่งแคทจะนำไปขยายเครือข่าย 4G/5G ให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงใช้แทนคลื่นย่าน 850MHz ที่ใช้ให้บริการ 4G แบรนด์ my by CAT ในปัจจุบัน ที่จะหมดใบอนุญาตในปี 2568 นอกจากนี้ แคท ยังระบุว่าเตรียมจะเปิดให้ MVNO หรือผู้ให้บริการอื่น เข้ามาเช่าคลื่น 700MHz ต่อได้ เพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้ใช้บริการด้วย เพราะได้มาถึง 10 MHz ดังนั้น เอไอเอสได้คลื่นไปในราคาสูง แต่คู่แข่งสามารถมา MVNO คลื่น 700 MHz ต่อจากแคทได้เช่นเดียวกัน

Advanc – True หุ้นเด้งรับคลื่น 5G

การประมูลคลื่น 5G ในย่าน 2600 MHz มีจำนวน 19 ชุด ชุดละ 10 MHz รวม 190 MHz ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 93 ล้านบาท รวมราคา 35,378 ล้านบาท ในคลื่นนี้มีผู้เข้าประมูล 3 ได้แก่ “เอดับบลิวเอ็น ทียูซี และกสทฯ” โดยในคลื่นนี้เป็นคลื่นย่านกลาง (มิด แบนด์) เป็นคลื่นที่เหมาะกับการทำ 5G มากที่สุด เดิมประเมินว่าจะมีการแข่งขันกันดุเดือดแต่ผลกลับไม่คึกคักใช้เวลาประมูลเพียง 2 รอบ ทำให้ทั้งเอไอเอส และทรู ทิ้งให้ดีแทค ต้องหลุดจากการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมไทย และต้องแก้ปัญหาวิกฤตศรัทธาจากลูกค้า

เอไอเอส ทรู รักษาสัญญากับ กสทช. ว่าจะผลักดัน 5G

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ประเทศไทยเปิดให้บริการระบบ 3G ล่าช้าถึง 8 ปี ขณะที่ระบบ 4G ล่าช้าถึง 4 ปี ดังนั้น การขับเคลื่อนให้เกิด 5G จึงต้องพยายามดำเนินการโดยเร็ว ทั้งนี้ การขับเคลื่อน 5G จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในปี 2563 มูลค่า 177,039 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.02% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ที่ 17,328,000 ล้านบาท จากมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ 1,983 ล้านบาท จากระบบเศรษฐกิจรายภาค เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิต 31.5% มูลค่า 624.62 ล้านบาท, ภาคการค้าและการเงิน 16% มูลค่า 317.86 ล้านบาท และภาคโทรคมนาคม 11.6% มูลค่า 229.03 ล้านบาท เป็นต้น


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน