ไทยมีพัฒนาการก้าวกระโดดในดัชนี ประชาธิปไตย ของ EIU

ประชาธิปไตย / รายงานดัชนีความเป็นประชาธิปไตยปี 2562 ของ The Economist Intelligence Unit (EIU) เผยแพร่ เมื่อ 22 ม.ค.63

1.รายงานดัชนีความเป็นประชาธิปไตยปี 2562 ของ The Economist Intelligence Unit (EIU) เผยแพร่ เมื่อ 22 ม.ค.63 ระบุว่าไทยโดดเด่นมากที่สุดด้านการพัฒนาระดับความเป็นประชาธิปไตยทั่วโลก ท่ามกลางสถานการณ์ประชาธิปไตยโลกที่อยู่ในภาวะถดถอย โดยไทยมีอันดับดีขึ้นถึง 38 อันดับ อยู่ในอันดับที่ 68 จากอันดับที่ 106 เมื่อปี 2561

ส่วนระดับคะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 6.32 จาก 4.63 หรือดีขึ้นมากที่สุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่การเข้าสู่อำนาจของ คสช. เมื่อปี 2557 ส่งผลให้ไทยได้เลื่อนขึ้นมาอยู่ในกลุ่ม “Flawed Democracy” จากเดิมที่อยู่ในกลุ่ม “Hybrid Regime”

2.EIU เป็นสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจและการเมือง และเป็นบริษัทผลิตวารสารดิอิโคโนมิสต์ของสหราชอาณาจักรจัดทำดัชนีความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2549 โดยพิจารณาจากตัวชี้วัด 60 ตัว มาประกอบผลการประเมินซึ่งมีหลักเกณฑ์ 5 ข้อ คือ

1) กระบวนการเลือกตั้งและความเป็นพหุสังคม 2) การบริหารกลไกภาครัฐบาล 3) การมีส่วนร่วมทางการเมือง 4)วัฒนธรรมด้านการเมืองแบบประชาธิปไตย และ 5) เสรีภาพของพลเรือน จากนั้นนำมาแบ่งกลุ่มเป็น 4 กลุ่มตามลำดับคำแนน (0-10 คะแนน)

ได้แก่ กลุ่มประเทศประชาธิปไตยสมบูรณ์ หรือ Full Democracy (8.01-10.0) กลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่ยังมีข้อบกพร่อง หรือ Flawed Democracy (6.01-8.00) ประเทศระบอบการเมืองแบบผสมหรือ Hybrid Regime (4.01-6.00) และประเทศระบอบอำนาจนิยม หรือ Authoritarian Regime (0-4)

3.รายงานดัชนีประชาธิปไตยปี 2562 ระบุว่าความเป็นประชาธิปไตยทั่วโลกอยู่ในภาวะถดถอย โดยค่าเฉลี่ยความเป็นประชาธิปไตยทั่วโลกประจำปี 2562 ลดลงเหลือ 5.44 เมื่อปี 2561 ซึ่งลดลงต่ำกว่าระดับ 5.46 เมื่อปี 2553 ที่ทั่วโลกเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ (เป็นค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ตกต่ำลงมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มใช้ดัชนีดังกล่าวเมื่อปี 2549) ในจำนวนนี้มี 68 ประเทศ/ดินแดน จาก 167 ประเทศ/ดินแดน ที่ได้รับคะแนนลดลง (เทียบกับดัชนีประชาธิปไตยของ EIU เมื่อปี 2561 มีเพียง 42 ประเทศที่ได้คะแนนลดลงจากปี 2560) ขณะที่ 65 ประเทศได้คะแนนดีขึ้น และอีก 34 ประเทศได้คะแนนเท่าเดิม โดยทุกภูมิภาคต่างได้คะแนนลดลงทั้งสิ้น ยกเว้นอเมริกาเหนือที่ได้คะแนนสูงขึ้น

4.กลุ่มประเทศอาเซียน (ยกเว้นบรูไน ซึ่งไม่ปรากฏรายชื่อในการจัดอันดับของ EIU) แม้จะไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก แต่พัฒนาการของไทย ประกอบกับการออกกฎหมายควบคุมข่าวเท็จของสิงคโปร์ที่ EIU ระบุว่าเป็นกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพของประชาชน ส่งผลให้ไทยเลื่อนจากอันดับที่ 5 มาอยู่ในอันดับที่ 4 แทนสิงคโปร์ที่เลื่อนลงมาอยู่อันดับที่ 5 แทน (สิงคโปร์มีอันดับโลกลดลงถึง 9 อันดับ จากอันดับที่ 66 เป็นอันดับที่ 75) ขณะที่มาเลเซียยังคงมีพัฒนาการด้านประชาธิปไตยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ในอันดับที่ 1 ของกลุ่มอาเซียนเช่นเดิม และเลื่อนขึ้นมาอยู่ในอันดับ 43 ของโลก จากอันดับ 52 และ 59 ของโลกเมื่อปี 2561 และ 2560 ตามลำดับข้อพิจารณา

5.การจัดการเลือกตั้งทั่วไปของไทยเมื่อมี.ค.62 ได้อย่างประสบความสำเร็จ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยมีพัฒนาการด้านประชาธิปไตยดีขึ้นอย่างมากในการจัดอันดับของ EIU โดย EIU ระบุชัดเจนในรายงานว่า การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น ครบทั้ง 5 หัวข้อดัชนีชี้วัดของ EIU นอกจากนี้ การจัดอันดับของ EIU เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำไปประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยว่าสามารถกลับสู่เส้นทางของประชาธิปไตยที่ได้รับการยอมรับจากองค์กรระดับโลก เนื่องจากเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สะท้อนว่าไทยได้รับการยอมรับจากองค์การระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงในด้านประชาธิปไตย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน