วันที่ 27 พ.ค. ที่กรุงบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน ในงานประชุม Closed-door High Level Roundtable ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ได้รับเกียรติในฐานะนักธุรกิจไทยเป็นอย่างสูงยิ่งจาก Barcelona Center For International Affairs, IDDRI, CADS เป็นผู้อภิปรายนำเพื่อให้ที่ประชุมได้ถอดบทเรียนนำไปสู่การผลักดันให้เกิดรูปแบบการทำธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ในประเทศกำลังพัฒนาในโลกนี้ด้านพลังงานหมุนเวียน

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า การลดโลกร้อนเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ผู้นำทุกประเทศทั่วโลก ให้ความสำคัญโดยประเทศไทย ได้มีการกำหนดเป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ชัดเจน

เมื่อปี 2009 รัฐบาลไทยโดย ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ได้ประกาศรับซื้อจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นครั้งแรกของประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน ประกาศรับซื้อผ่านไปกว่าปี โดยที่ไม่มีบริษัทใดยื่นขอขายไฟที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์

อย่างไรก็ตาม ตนได้เริ่มพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ครั้งแรกเมื่อ ปี 2009 หลังจากที่เกษียณอายุไปเมื่อปี 2006 และประสบปัญหาอย่างมากในการหาสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการ เนื่องจากเป็นโครงการที่ไม่เคยมีผู้ใดทำมาก่อน ทำให้สถาบันการเงินไม่มีข้อมูลด้านความเสี่ยง ต้องใช้เวลาในการพัฒนาโครงการกว่า 1 ปี ต้องใช้ที่ปรึกษาการเงิน ที่ปรึกษากฎหมาย ที่ปรึกษาด้านเทคนิค ที่ปรึกษาด้านประกันภัย ซึ่งทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงด้านการลงทุน ธนาคารกสิกรไทยเป็นสถาบันการเงินที่ช่วยสนับสนุนทางด้านการเงินด้วย โดยมีอัตราหนี้สินต่อทุนที่ 60:40

การระดมทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรก ประสบปัญหาจากการที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ในที่สุดต้องตัดสินใจขายบ้านและที่ดิน เพื่อนำเงินมาลงทุนในอัตราส่วน 40 % ของมูลค่าโครงการ และมีธนาคารกสิกรไทยสนับสนุนส่วน 60 % โครงการโซลาร์ฟาร์มแห่งแรกที่โคราช เริ่มผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และส่งเข้าระบบจำหน่ายไฟ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2553 โดยธนาคารให้มีระยะเวลาประเมิน 6 เดือน ก่อนที่เริ่มพัฒนาโครงการที่ 2 ผลปรากฎใน 3 เดือนแรก การผลิตไฟฟ้าดีกว่าเป้าหมายกว่า 20 % ทำให้ธนาคารเห็นโอกาสที่จะช่วยบริษัทพัฒนาโครงการที่เหลือที่ต้องใช้เงินลงทุนกว่า 24,000 ล้านบาท บริษัทได้รับการสนับสนุนจาก International Finance Corporation Member of World Bank Group ร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาโซลาร์ฟาร์มที่เหลือและร่วมให้ความสนับสนุนทางด้านการเงิน ตลอดจนนำเงินกู้ Climate Technology Fund มาร่วมให้กู้กับสถาบันการเงินอื่นๆอีก 6 แห่ง ภายใต้การจัดการของธนาคารกสิกรไทย

บริษัทได้ควบรวมกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และระดมเงินทุน อีกทั้งยังได้รับความไว้วางใจจากสถาบันการเงินให้กู้มาใช้เป็นเงินทุนจนสามารถพัฒนาทั้ง 36 โครงการสำเร็จ สามารถช่วยสร้างงานช่วงก่อสร้างกว่า 20,000 แรงงาน ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 200,000 ตัน/เทียบเท่าต่อปี

ผลจากความสำเร็จไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท ทำให้รัฐบาลไทยเกิดความเชื่อมั่นในการใช้พลังงานหมุนเวียน และประกาศแผนการใช้พลังงานหมุนเวียน/พลังงานทดแทน ครั้งแรกโดยกำหนดให้มีการใช้พลังงานทดแทน/พลังงานหมุนเวียนกว่า 30 %จนถึงปี 2579 และมีตัวเลขการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ถึง 6,000 เมกะวัตต์

ดร.วันดี กล่าวสรุปว่า United Nation Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) ประสบความสำเร็จก้าวแรกจาก การจัดประชุม COP 21 ที่กรุงปารีส ก่อให้เกิด Paris Agreement กว่า 200 ประเทศทั่วโลก ได้ให้คำมั่นที่จะช่วยกันลดอุณหภูมิ 1.5-2.0 องศา เป็นวาระของโลกและเป็นเรื่องที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องร่วมมือกันรักษาโลกที่สวยงามไปสู่ลูกหลานต่อไป

ทั้งนี้ SPCG พัฒนาโครงการครบ 36 โครงการ พร้อมจัดตั้งบริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด หรือ (SPC) เป็นบริษัทพัฒนาและควบคุมทั้ง 36 โครงการ และมีบริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ แอสเซ็ท จำกัด หรือ (SPA) พัฒนาและควบคุมโซลาร์ฟาร์มรวม 2 โครงการ ในจังหวัดลพบุรี พร้อมทั้งได้จัดตั้ง บริษัท โซล่า เพาเวอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด หรือ (SPE) เป็นผู้นำการให้บริการออกแบบทางวิศวกรรมและก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มแบบครบวงจร พร้อมด้วยทีมงานคุณภาพ มากประสบการณ์ และได้จัดตั้ง บริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือ (SPR) ประกอบธุรกิจติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Roof) โดยธุรกิจครบวงจรมูลค่าการลงทุนมากกว่า 24,000 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน