เผยคนไทยไม่ถึงร้อยละ 50 บริโภคผักและผลไม้น้อยกว่า 400 กรัม ตามเกณฑ์กำหนด WHO สน.สร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ แนะกินครึ่งจานในแต่ละมื้อ
เมื่อวันที่ 16 เม.ย. น.ส.สิรินทร์ยา พูลเกิด ผู้จัดการแผนงานนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. เปิดเผยถึงสถานการณ์การบริโภคผักและผลไม้ของคนไทยว่า เป้าหมายการส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้นั้น อยากให้เด็กวัย 6-14 ปี กินผักอย่างน้อย 250 กรัมต่อวัน และอายุ 15 ปีขึ้นไปกินผักให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม
แต่จากการสำรวจพฤติกรรมกินผักและผลไม้ของคนไทยในปี 2562 พบว่าส่วนใหญ่คนโสด คนที่มีการศึกษาตั้งแต่มัธยมอายุ 15 ปีขึ้นไป มีโอกาสกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอเพิ่มขึ้น 1.4 เท่า ขณะที่ผู้ชายกินผักน้อยเพิ่มขึ้น 1.32 เท่า เมื่อศึกษาลงไปถึงอาชีพพบว่าคนทำงานบริษัทกินไม่เพียงพอเพิ่มขึ้น 2.52 เท่า
ซึ่งหากเทียบให้เห็นชัด คือในหนึ่งร้อยคน มีเพียง 31 คนที่กินเพียงพอ และเมื่อแบ่งกลุ่มย่อยเด็กอายุ 6-14 ปี มีเพียง 26 คน และผู้ใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไป มีเพียง 35 คนที่กินเพียงพอ
ทั้งนี้คนวัยทำงาน คือ กลุ่มเป้าหมายที่ สสส.ต้องส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้ให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการจะส่งเสริมให้คนไทยหันมาบริโภคผักและผลไม้นั้น อาจจะต้องมีการส่งเสริมปลูกผักสวนครัวกินเอง เช่นเดียวกับการส่งเสริมผักปลอดสารพิษ เพราะถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนไม่กล้ากินผัก เพราะกลัวได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย
ขณะเดียวกันมาตรการส่งเสริมในทุกกลุ่มก็เป็นสิ่งจำเป็น อย่างเช่นที่ทำงานมีการส่งเสริมร้านค้าร้านอาหารสุขภาพ สถานศึกษา โรงเรียน มีนโยบายส่งเสริมโภชนาการ รวมไปถึงกลไกติดตามและประเมินการจัดสภาพแวดล้อมที่สำคัญ ส่วนครัวเรือนส่งเสริมพฤติกรรมปลูกผักกินเอง
“อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้คนไทยบริโภคผักและผลไม้เพิ่มขึ้นจะสำเร็จได้นั้น ภาครัฐต้องเป็นผู้นำในด้านการส่งเสริมการผลิตที่ปลอดภัย และการเข้าถึงผักและผลไม้มากขึ้นอย่างจริงจัง” น.ส.สิรินทร์ยา กล่าว
ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า แม้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ อุดมสมบูรณ์ไปพืชพันธุ์ธัญญาหาร แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังบริโภคผักและผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก แนะนำให้บริโภคผักและผลไม้วันละ 400 กรัม ซึ่งคนไทยบริโภคในปริมาณเพียงพอแค่ร้อยละ 34 เท่านั้น
แคมเปญ ‘ผลักดันให้ผักนำ’ เป็นโครงการที่ สสส.และภาคีเครือข่ายร่วมกันส่งเสริมและรณรงค์ให้คนหันมาบริโภคผักและผลไม้มากขึ้น โดยให้ทุกมื้อที่ทานอาหารให้นึกถึงผักก่อนลำดับแรก เทคนิคในการรับประทาน เช่น ใน 1 จานแต่ละมื้อแบ่งผักให้ได้สักครึ่งหนึ่ง หรือแบ่งเป็น 4 ส่วนด้วยสูตร 2-1-1 คือ ผัก 2 ส่วน ข้าว 1 ส่วน และเนื้อสัตว์ 1 ส่วน ซึ่งจะทำให้ได้รับประทานผักและผลไม้ที่เพียงพอ
อีกแคมเปญที่ทำวบคู่กัน คือการส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้ตามฤดูกาล ซึ่งเรามีผักหลากชนิดให้ทานทั้งปี แต่ว่าการเลือกทานผักตามฤดูกาลจะช่วยลดการรับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายเพราะพืชผักที่ปลูกตามฤดูกาลจะมีการลดใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การล้างผักให้ถูกวิธีก่อนนำมารับประทาน และที่สำคัญ คือการล้างผักก่อนทาน
“เราอยากเชิญชวนให้ทุกคนหันมาดูแลสุขภาพตัวเอง ใส่ใจการกินอาหารตั้งแต่ต้นทาง และเลือกกินอะไรที่ให้เราสุขภาพดี” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ขณะที่ ดร.สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโภชนาการ สสส. กล่าวถึงประโยชน์ของการกินผัก ว่า องค์การนามัยโลกชี้ชัดว่าการเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดัน มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคหลอดเลือดหัวใจ เพราะคนไม่กินผักและผลไม้เพียงพอ ทั้งที่โดยธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์กินพืช ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหาร 5 หมู่ แต่กลับบริโภคเนื้อและอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์
ประโยชน์ของการบริโภคผัก ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคให้ร่างกาย มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ หรือที่เรียกว่า พฤกษาเคมี ซึ่งมีอยู่ในผักและผลไม้ทุกชนิดมากกว่า 200 ชนิด ซึ่งไม่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่สามารถพัฒนาเป็นมะเร็งได้ และมีไฟเบอร์เปรียบเหมือนไม้กวาดลำไส้ช่วยกวาดสิ่งหมักหมดที่ตกค้างในลำไส้ออกไปด้วย
“ทำไมคนถึงไม่กินผัก ส่วนหนึ่งเพราะกลัวสารเคมี กลัวไม่ปลอดภัย กลัวสารตกค้าง ดังนั้นจะต้องรู้วิธีกินผักอย่างไรให้ปลอดภัย คือกินผักพื้นบ้านตามฤดูกาล กินผักให้หลากหลาย อย่ากินซ้ำซากและล้างก่อนกิน วิธีง่ายๆ ใช้เกลือหรือน้ำส้มสายชู ทำอย่างไรให้คนกินผักมากขึ้น จะต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก และสถานที่ทำงาน จะต้องมีวิธีการเชื่อมบ้านกับโรงเรียนให้มีกระบวนการส่งเสริมให้กินผัก” อาจารย์สง่า กล่าว