จี้ถอนข้อสงวน อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 22 พบไทยเป็นชาติเดียวในโลก

วันที่ 11 ก.ย. คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร จี้รัฐบาลเร่งถอนข้อสงวนข้อที่ 22 ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ว่าด้วยการคุ้มครองและช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่เหมาะสมแก่เด็กลูกผู้ลี้ภัย หลังพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังตั้งข้อสงวนข้อนี้

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการได้จัดการสัมมนาเรื่อง ความเป็นไปได้และข้อห่วงใยในการถอนข้อสงวนในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อที่ 22 โดยมีผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้ความเห็น อาทิ กรมกิจการเด็กและเยาวชน สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้ข้อสรุปร่วมกันจากการสัมมนาดังนี้

1. ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยหรือผู้หนีภัยจากการสู้รบหรือผู้พลัดถิ่น ราวแสนคน จำแนกเป็นอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยหรือที่พักพิงชั่วคราวหรือที่พักรอ ราว 90,000 กว่าคน และอยู่ในเมือง 5,000 กว่าคน

2. ประเทศไทยปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยรวมทั้งเด็กลูกผู้ลี้ภัย ตามหลักสากล 3 ประการ คือ 1. รับผู้ลี้ภัยให้ปลอดภัย โดยไม่ผลักดันหรือส่งกลับไปสู่อันตรายหรือความตาย 2. ให้ปัจจัยสี่ 3. ให้อยู่ชั่วคราว โดยไม่ลงโทษกุมขัง

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

3. ประเทศไทยดูแลคุ้มครองเด็กทุกคน ใน 4 หลักการพื้นฐาน คือ 1. สิทธิในการอยู่รอด 2. สิทธิในการพัฒนา 3. สิทธิในการรับการคุ้มครองปกป้อง และ 4. สิทธิที่จะมีส่วนร่วม

4. ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลก ที่ยังตั้งข้อสงวนข้อที่ 22 ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

5. การถอนข้อสงวนข้อที่ 22 ไม่เป็นข้อผูกพันที่ทำให้ประเทศไทยต้องเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 และไม่ใช่การยอมรับสถานภาพผู้ลี้ภัย

6. ประเทศไทยมีกฎหมาย แนวทาง และมาตรการปฏิบัติ ตามและมากกว่าข้อที่ 22 อยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และดำเนินตามมาตรการที่เหมาะสม

7. ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องตรากฎหมายใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย รวมถึงไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม หากถอนข้อสงวน

8. ประเทศไทยยอมรับและให้การคุ้มครองผู้ลี้ภัย โดยมีระเบียบว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศ พ.ศ.2562 และมีมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ

9. การถอนข้อสงวนจะเป็นภาพลักษณ์และมุมมองด้านบวกของประเทศไทยต่อนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศ

10. กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กำลังศึกษาเพื่อทำข้อเสนอถึงคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ(กดยช.) เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสัมมนาเห็นได้ชัดว่า ประเทศไทยไม่มีความจำเป็นต้องตั้งข้อสงวนข้อนี้ หวังว่ากรมกิจการเด็กและเยาวชน จะสรุปการศึกษาโดยเร็วเพื่อนำเสนอในการถอนข้อสงวน ซึ่งเป็นข้อสงวนข้อเดียวที่ไทยมีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อเป็นการคุ้มครองเด็กทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน