เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ๖ หมู่บ้าน อ.วังสะพุง จ.เลย ออกแถลงการณ์และเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ร่วมออกแถลงการณ์คัดค้าน พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 27 ส.ค.60 โดยแสดงท่าทีไม่ยอมรับเนื้อหาในบทบัญญัติของ พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันนี้ เพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วมกับการร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว


โดยแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 29 ส.ค.2560 เราควรระลึกไว้ว่า 100 กว่าปีที่ผ่านมาของการใช้บังคับ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 มีผู้คนล้มตายจำนวนมากจากเหมืองแร่ มีผู้คนเจ็บป่วยล้มตายจำนวนมากจากเหมืองแร่ มีผู้คนถูกกลั่นแกล้งฟ้องร้องดำเนินคดีมากมายจากเหมืองแร่ มีชุมชนล่มสลายจำนวนมากจากเหมืองแร่ เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสภาวะแวดล้อม สังคมและสุขภาวะอนามัยมากมายหลายพื้นที่จากการทำเหมือง ความเสื่อมโทรมต่อผืนแผ่นดิน ภูเขา ห้วยน้ำลำธาร ทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ที่เสื่อมโทรมจนไม่อาจฟื้นฟูได้


และในวันที่ 29 ส.ค. จะเป็นจุดเริ่มต้นในการบันทึกประวัติศาสตร์รอยเชื่อมต่อระหว่างกฎหมายแร่ฉบับเก่าที่ถูกยกเลิกไป กับกฎหมายแร่ฉบับใหม่ที่ถูกประกาศใช้แทน ดังนั้น ความเลวร้าย เสื่อมทราม ผลกระทบทั้งหลาย คนเจ็บป่วย ผู้ถูกคดีทั้งหลายจากกฎหมายแร่ฉบับเก่าจะถูกโอนมาที่ความรับผิดชอบของกฎหมายแร่ฉบับใหม่ เรารู้ดีว่ารัฐต้องการยืมมือคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติภายใต้กฎหมายแร่ฉบับใหม่เปิดเหมืองทองกลับมาใหม่ให้ได้เพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อชีวิตความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน


เรารู้ดีว่ากฎหมายแร่ฉบับใหม่จะมีการแบ่งทำเหมืองเป็น 3 ประเภท ขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ เพื่อจะทำให้ขั้นตอนการอนุมัติ/อนุญาตประทานบัตรทำเหมืองมีระยะเวลาสั้นขึ้น ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และหลีกเลี่ยงไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ หรืออีเอชไอเอ จะเปิดโอกาสให้ประมูลแหล่งแร่เป็นแปลงขนาดใหญ่หลายพันหรือหลายหมื่นไร่ได้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบโลหกรรมในเขตเหมืองแร่หรือเขตประทานบัตรอีกต่อไป เรารู้ดีว่ากรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ภายใต้กฎหมายแร่ฉบับใหม่จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดทำรายงานอีไอเอและขอประทานบัตรแทนผู้ประกอบการเอกชนได้


และภายใต้กฎหมายแร่ฉบับใหม่ยังเปิดโอกาสให้มีการทำเหมืองในเขตรัศมีใกล้ชุมชนท้องถิ่นอยู่เช่นเดิม เราจึงมายืนอยู่ต่อหน้าอนุสาวรีย์ครูประเวียน บุญหนัก เพื่อระลึกถึงความรุนแรงถึงชีวิตต่อคนคนหนึ่งจากการทำเหมืองแร่ คือคนคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับเหมืองเหมืองหินและโรงโม่หิน ซึ่งคนบงการก็ยังมีชีวิตลอยนวลอยู่โดยถ่ายทอดความชั่วช้าเลวทรามจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกในการจ้างทหารและชายฉกรรจ์สองร้อยกว่าคนเข้าทำร้ายทุบตีชาวบ้านที่ต่อสู้กับเหมืองทองในคืนวันขนแร่ด้วยอำนาจเถื่อน 15 พ.ค.2557
เรามายืนอยู่ที่นี่เพื่อระลึกถึงความดีงามของครูประเวียน บุญหนักที่เสียสละชีวิตให้กับความสงบสุขของชาวบ้าน และเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการต่อสู้กับเหมืองแร่และความอยุติธรรมจากกฎหมายแร่ฉบับใหม่ต่อไป

เราจะยืนหยัดในจุดยืนที่ตรงข้ามกับ คสช. หาก คสช. ต้องการเปิดเหมืองทอง เราจะรวมพลังกันเพื่อปิดเหมืองทอง

ในส่วนของเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี การจ่ายสินบนโดยกฎหมายด้วยการจ่ายค่าลอดใต้ถุนให้กับเจ้าของที่ดินในพื้นที่ขอประทานบัตร เพื่อหวังที่จะโน้มน้าวชักจูงชาวบ้านฝ่ายคัดค้านกลับมาเป็นฝ่ายสนับสนุนเป็นความสามานย์ของกฎหมายที่เราไม่ยอมรับ และไม่มีทางที่จ่ายค่าลอดใต้ถุนแล้วจะเปิดเหมืองได้ ในส่วนของเหมืองแร่อื่น ๆ ทั่วประเทศ เราจะร่วมกันเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบการใช้กฎหมายแร่ฉบับใหม่อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อเผยถึงความอยุติธรรมของกฎหมายฉบับนี้ต่อสาธารณะ


เบื้องต้น เราขอแสดงท่าทีของเราว่าไม่ยอมรับเนื้อหาบทบัญญัติของกฎหมายแร่ฉบับใหม่ เพราะเราในฐานะประชาชนไม่มีส่วนร่วมกับการร่างกฎหมายฉบับนี้ ประกอบกับคำสั่ง คสช. ที่ละเมิดอำนาจศาลที่สั่งให้นำพื้นที่ ส.ป.ก. ไปใช้ประโยชน์อื่นที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรมได้ โดยเฉพาะกิจการขุดเจาะปิโตรเลียมและเหมืองแร่ ซึ่งจะทำให้พื้นที่เกษตรกรรมที่สมควรสงวนหวงห้ามเอาไว้แก่คนยากคนจนถูกทำลายลงไปอย่างย่อยยับ คำสั่ง คสช. ฉบับนี้ไม่เพียงใช้พื้นที่ร้อยละ 0.1 หรือประมาณ 3 หมื่นกว่าไร่ของพื้นที่ ส.ป.ก. ทั้งหมดประมาณ 40 ล้านไร่ ตามที่ คสช. กล่าวอ้าง แต่เป็นการทำลายพื้นที่ ส.ป.ก. ทั้งหมด 40 ล้านไร่ เพราะจะไม่มีพื้นที่ ส.ป.ก. บริเวณใดถูกยกสงวนไว้ตามคำสั่ง คสช. ฉบับนี้
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้กฎหมายแร่ฉบับใหม่นี้มีอำนาจทำลายล้างมหาศาลกับพื้นที่ ส.ป.ก. ที่เรายอมรับไม่ได้

 

ขอบคุณภาพจากเพจ เหมืองแร่ เมืองเลย V2

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน