นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เพิ่มความเข้มงวดในการจัดเก็บภาษีสินค้าที่มีการสั่งซื้อระบบออนไลน์จากต่างประเทศและให้จัดส่งทางไปรษณีย์เข้ามาในไทย หลังพบว่าผู้ประกอบการและผู้ซื้อของไทยใช้ช่องว่างทางกฎหมาย สำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อให้ได้รับการยกเว้นการเสียภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาทเข้ามาในไทย

“ที่ผ่านมาแม้มูลค่าการสั่งซื้อสินค้าทางไปรษณีย์ทั้งในและต่างประเทศจะเติบโตขึ้นเยอะมาก แต่การจัดเก็บรายได้ภาษีจากสินค้าเหล่านี้กลับยังไม่เยอะ เพราะส่วนใหญ่พบว่าผู้ซื้อระบุราคาสำแดงต่ำกว่า 1,500 บาททั้งหมด แต่พอมีการตรวจสอบจริงก็พบว่าเกือบทั้งหมดมีราคาเกิน อย่างบางรายประมูลสั่งซื้อของจากญี่ปุ่นและระบุราคา 400 เยน หรือคิดเป็นเงินไทยเพียง 120 บาท แต่พอเปิดเข้าไปดูกลับเป็นกระเป๋าแบรนด์เนมมูลค่านับหมื่นบาท”

สำหรับสินค้าออนไลน์ที่จะคุมเข้ม มีทั้งสินค้าที่ประมูลจากเว็บไซต์ในต่างประเทศ เช่น อีเบย์ หรือเว็บไซต์จากญี่ปุ่น เว็บไซต์ที่เปิดค้าออนไลน์โดยตรง ซึ่งสั่งให้เจ้าหน้าที่กรมศุลฯ สอดส่องดูเพิ่มหากพบว่าสอดคล้องกับสินค้าที่กำลังซื้อมาในไทยก็จะให้เก็บภาพหน้าจอ หรือแคปหน้าจอไว้เป็นหลักฐานในการเรียกเก็บภาษี รวมถึงสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่ส่งข้ามชายแดนเข้ามาขายในประเทศก็ตรวจดูด้วย หลังยังพบกระเป๋า รองเท้าแบรนด์เนมของปลอมจำนวนมากถูกลักลอบส่งเข้ามาขายในไทย แต่หากเป็นข้าวของเครื่องใช้ที่คนไทยไปทำงานและส่งกลับมาให้พ่อแม่ที่บ้านใช้ก็อาจได้รับการยกเว้นตามความเหมาะสม

ดังนั้น แนวทางการแก้ไขขณะนี้กรมได้มีการตั้งศูนย์ข่าวกรองกรมศุลกากรขึ้นมา เพื่อป้องกันการสำแดงเท็จ สำแดงต่ำ และน้ำหนักเกิน หากพบว่ามีบริษัทรับปรีออเดอร์ นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ถ้าจงใจกระทำผิดซ้ำซากจะมีการขึ้นบัญชีดำและตรวจสอบถี่ขึ้น และยึดจริงเพื่อให้ทำธุรกิจได้ยากขึ้น ไม่ใช่ให้เพียงจ่ายค่าปรับแล้วจบไปเหมือนแต่ก่อน หรือหากเป็นกรณีบุคคลที่มีการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์หากซื้อที่เดียวกันบ่อยก็จะมีการตรวจเข้มด้วย เพราะพบว่ามีความพยายามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในไทยเข้ามาขายกันมากขึ้น

นายกุลิศกล่าวว่า ที่ผ่านมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เสนอให้กรมศุลฯ ปรับลดการยกเว้นภาษีสินค้าออนไลน์ให้เหลือไม่เกิน 500 บาท เพื่อขยายฐานการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น แต่ทางฝั่งผู้ประกอบการต้องการให้ขยายการยกเว้นไปเป็น 6,500 บาท หรือประมาณ 200 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อส่งเสริมการค้าออนไลน์ในประเทศ แต่กรมศุลฯ ยังคงยืนยันที่เรียกเก็บเหมือนเดิมแต่จะมีการเพิ่มความเข้มงวดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ให้สูงขึ้น

ส่วนข่าวลือที่ว่าปัญหาด้านการจัดเก็บภาษีกรมศุลฯได้ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจค้าขายออนไลน์รายใหญ่ของโลกอย่างลาซาดา และอาลีบาบา เตรียมย้ายฐานการค้าหนีไปประเทศอื่น ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริงและขณะนี้ก็ได้มีการหารือกับทั้ง 2 บริษัทอย่างต่อเนื่องถึงการจัดตั้ง อีคอมเมิร์ซ พาร์คในเมืองไทย เพราะในกฎหมายภาษีศุลกากรใหม่ที่เตรียมใช้วันที่ 13 พ.ย.นี้ จะมีการใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกการขนสินค้าผ่านแดนไปยังประเทศที่สาม รวมถึงการถ่ายลำสินค้าจากเครื่องบินให้สะดวกมีขั้นตอนการขนส่งที่ลดลง

ทั้งนี้ก่อนที่ พ.ร.บ.ศุลกากร ฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้กรมฯจะเชิญผู้ประกอบการรายใหญ่ระดับประเทศ 600 ราย ซึ่งเป็นสมาชิกจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย เข้ามาประชุมสร้างความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นก่อนที่กฎหมายบังคับใช้จริง เช่น เรื่องเขตปลอดภาษี วิธีศุลกากรนำเข้าส่งออก เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน