image05

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี ๒๔๘๙ ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทยนานัปการ และตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติถึง ๗๐ ปี การใดก็ตามที่จะเป็นการสนองตอบพระมหากรุณาธิคุณอันล้นเกล้าล้นกระหม่อมนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มุ่งมั่นดำเนินการเพื่อสนองพระราชดำริ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับราษฎร ในด้านพลังงานและด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งแต่ละโครงการล้วนส่งผลให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมีความสุข

image03

image07

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์มาโดยตลอด และด้วยพระอัจฉริยภาพด้านวิศวกรรม เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยือนราษฎรในถิ่นทุรกันดาร พระองค์ได้ทรงมีพระราชดำริให้ กฟผ. ทำการสำรวจและศึกษาพื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กผลิตกระแสไฟฟ้าให้ราษฎรในชนบท อาทิ โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง จ.เชียงใหม่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำคลองช่องกล่ำจ.สระแก้ว โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติ จ.ยะลา และเขื่อนพรมธารา จ.ชัยภูมิ ซึ่งการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกลช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตราษฎรให้ดีขึ้น

image06

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ-คลองช่องกล่ำ-จ.สระแก้ว

ไม่เพียงโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กที่หล่อเลี้ยงชุมชนเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ยังทรงให้ความสำคัญต่อการจัดการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่ง กฟผ. ได้รับสนองพระราชดำริ โดยพัฒนาเขื่อนขนาดใหญ่ในความดูแลของ กฟผ. กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามเขื่อนใหญ่เพื่อเป็นสิริมงคล ๙ แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี และโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา

image01

เขื่อนภูมิพล จ.ตาก

เขื่อนขนาดใหญ่ของ กฟผ. ทุกแห่ง ล้วนเป็นต้นน้ำของแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ แต่การจะมีน้ำให้เขื่อนได้ทำหน้าที่กักเก็บนั้น ต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อกัน ระหว่างทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ กฟผ. จึงได้ดำเนินโครงการปลูกป่า กฟผ. มากว่า ๒๐ ปี อาทิ โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ โครงการปลูกต้นกล้า ป่าต้นน้ำ ถวายพ่อ โครงการปลูกต้นไม้รอบบ้านพ่อ เป็นต้น ทำให้วันนี้ต้นน้ำลำธารของเมืองไทยยังคงมีอยู่ ยังผลมาถึงการที่ประชาชนมีอาชีพ เลี้ยงตัวเองได้ จากความอุดมสมบูรณ์ที่เกิดขึ้น

image00

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ บ้านสันติ จ.ยะลา

image02

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่

พระมหากษัตริย์นักพัฒนา แนะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หนทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรไทย ให้สามารถดำรงตนอยู่อย่างมั่นคงภายใต้กระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก บนหลัก ความมีเหตุผล” “พอประมาณ และ มีภูมิคุ้มกัน กฟผ. จึงได้จัดตั้ง โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้พนักงาน กฟผ. ทั่วประเทศช่วยกันขยายแนวคิดนี้ไปสู่ชุมชนรอบหน่วยงานของ กฟผ. ด้วยการสนับสนันชุมชนในด้านวิชาการ บุคลากร และงบประมาณดำเนินการเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นส่วนหนึ่งในการทำประมง เกษตร ปศุสัตว์ และรักษาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยปราศจากสารพิษ ส่งผลให้ประชาชนมีความสุข

www.EGAT.co.th

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน