หมอสมศรี-หมอประกิต ผนึก 25 นักวิชาการควบคุมยาสูบ ออกแถลงการณ์ถึง ครม. เปิด 7 ข้อเรียกร้อง ภาษียาสูบไทยต้องไม่เดินถอยหลัง เสนอจัดเก็บภาษีทั้งปริมาณ-มูลค่าขายปลีก 32-35%ของราคาขายปลีก ราคาต้องไม่ถูกลง ชี้ รัฐต้องเปิดให้มีส่วนร่วมปรับโครงสร้างภาษี

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่กล่าวว่า ตามที่กระทรวงการคลัง เตรียมจะเสนอโครงสร้างภาษียาสูบใหม่ให้ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในการประชุม ครม. ในวันพรุ่งนี้ (30 มี.ค.) แทนภาษียาสูบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ ครม. พิจารณาข้อเสนอการปรับโครงสร้างภาษียาสูบใหม่ ดังนี้

นักวิชาการ ผนึกค้าน ปรับโครงสร้างภาษี ชี้ราคาต้องไม่ถูกลง

1.โครงสร้างภาษียาสูบที่จะปรับใหม่ ต้องส่งผลดีต่อทั้งการจัดเก็บภาษีของรัฐ และทำให้การสูบบุหรี่ลดลง ตามหลักการที่ระบุไว้ในอนุสัญญาควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลก ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี 2.ต้องไม่ทำให้ภาระภาษีของสินค้ายาสูบโดยรวมลดลง เพราะภาระภาษีที่ลดลงจะทำให้คนสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น 3.โครงสร้างภาษีใหม่ควรจะประกอบด้วย ส่วนที่เก็บตามปริมาณ และส่วนที่เก็บตามมูลค่าราคาขายปลีก 4.โครงสร้างอัตราภาษีที่เก็บตามมูลค่าควรจะมีเพียงอัตราเดียว เพื่อป้องกันการลดราคาของบริษัทบุหรี่ ที่สำคัญเพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะนำของอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก

ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี กล่าวต่อว่า 5.ภาษีที่คิดตามมูลค่าราคาขายปลีก ควรจะกำหนดเป็นอัตราเดียว เช่น 32-35% ของราคาขายปลีก 6.โครงสร้างภาษีที่คิดตามปริมาณ ที่ปัจจุบันเก็บ 1.2 บาทต่อมวน ควรจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 หรือ 1.4 บาทต่อมวน และปรับขึ้นทุก 2 ปี ตามอัตราเงินเฟ้อ 7.ควรจะมีการกำหนดแผนระยะยาวที่จะขึ้นภาษียาเส้น เพื่อลดความแตกต่างด้านราคาระหว่างบุหรี่ซิกาแรต และยาเส้น ซึ่งจะช่วยป้องกันการที่ผู้สูบบุหรี่จะหันมาสูบยาเส้นที่มีราคาถูกกว่า

ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การปรับโครงสร้างภาษียาสูบครั้งนี้ รัฐบาลจะไม่ถูกมองในสายตาของนานาประเทศว่าเดินถอยหลังด้านนโยบายภาษียาสูบ ซึ่งประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างได้ยกเลิกอัตราภาษีที่มีหลายระดับแล้ว

ด้านศ.นพ.ประกิต วิทีสาธกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า โครงสร้างภาษียาสูบปัจจุบัน ซึ่งเป็นการจัดทำโดยกรมสรรพสามิต ได้สร้างผลกระทบในทางลบ ทั้งทางด้านรายได้จากการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล เงินนำส่งรัฐจากกำไรของการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ลดลง ส่งผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบที่ถูกลดโควตารับซื้อใบยาจาก ยสท. ทำให้เสียเปรียบบริษัทยาสูบต่างชาติ และที่สำคัญไม่ได้ทำให้การบริโภคยาสูบลดลง

ดังนั้น การปรับโครงสร้างภาษียาสูบครั้งใหม่นี้ รัฐบาลควรจะเปิดกว้างให้นักวิชาการเกี่ยวกับยาสูบเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำโครงสร้างภาษีใหม่ เพื่อให้เกิดความรอบด้าน และเป็นประโยชน์สูงสุดของคนไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน