ไฟเขียวใช้ 2 ยาใหม่ บำบัดผู้ติดเห้ลา เร่งนำเข้า-ขึ้นทะเบียนใน 3 เดือน ก่อนทดลองใช้ในผู้ป่วย 2 หมื่นราย หาก 6 เดือนพบได้ผลดี ชงเข้าบัญชียาหลักฯ ใช้แทนยาเดิม

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

วันที่ 31 มี.ค.64 นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 2 เรื่อง คือ 1.แนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2564 ซึ่งหลายคนรอคอยเทสกาลนี้ แต่ปีนี้คงจัดแบบฟูลสเกลไม่ได้ ไม่อนุญาตให้มีการสาดน้ำ แต่อนุญาตให้มีการเดินทางได้

ดังนั้น จึงต้องเน้นการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ช่วงก่อนเทศกาล คือ วันที่ 15 มี.ค. – 9 เม.ย. การใช้มาตรการขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เพราะจากข้อมูลพบว่า ส่วนใหญ่อุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นจากสุรา กลุ่มอายุหลักคือต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงวิเคราะห์ความเสี่ยงการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และจุดเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน

ส่วนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 10-16 เม.ย. ยังบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง ตั้งด่านชุมชนสกัดไม่ให้ผู้ดื่มขับรถออกสู่ถนนใหญ่ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าช่วยลดตัวเลขและการสูญเสียจากอุบัติเหตุได้ โดยขอให้มหาดไทยตั้งด่านชุมชนในถนนรองให้มากที่สุด โดยร่วมกับอาสาสมัครในพื้นที่ การตรวจวัดเลือดแอลกอฮอล์ผู้บาดเจ็บทางถนนอายุต่ำกว่า 20 ปีทุกราย หากปริมาณเกินมาตรฐานให้สอบสวนเอาผิดสถานที่หรือบุคคลที่จำหน่ายหรือให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เด็กและเยาวชน ขณะที่ช่วงหลังเทศกาลวันที่ 17-23 เมษายน 2564 ให้สรุปข้อมูลเพื่อปรับปรุงมาตรการในปีต่อไป

“นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยตามมติคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ให้บูรณาการการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กำหนดเวลาห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบางวัน บางเวลา บางพื้นที่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 หรือจัดทำข้อตกลงความร่วมมือการจัดงานบุญ ประเพณีปลอดเหล้า ปลอดภัย ปลอดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของพื้นที่นั้นๆ เนื่องจากช่วงเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ ช่วงเย็น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กฎหมายก็ห้ามจำหน่ายอยู่แล้ว ขอให้ผู้ว่าฯ ไปขับเคลื่อนในแต่ละจังหวัด เพื่อให้การห้มจำหน่ายเป็นไปตามกฎหมาย” นายสาธิตกล่าว

นายสาธิต กล่าวว่า 2.เห็นชอบการใช้ยานาลเทรกโซน (Naltrexone) และยาอะแคมโพรเสต (Acamprosate) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาผู้ติดสุรา เนื่องจากในต่างประเทศมีการบรรจุยาทั้ง 2 ตัวในบัญชียาหลักและพบว่าลดการเสพซ้ำได้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดรักษาไม่เกิน 3,000 บาทต่อราย

นอกจากนี้ พบว่ามีแหล่งผลิตที่ประเทศอินเดีย และมีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย จึงมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการเร่งรัดการนำเข้าและขึ้นทะเบียนยา และจัดทำโครงการนำร่องการใช้ยาดังกล่าวในสถานบริการสาธารณสุข เพื่อใช้แทนยาเดิม

ด้าน นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ยาไดซัลฟิแรม (Disulfiram) เป็นยาเดิมที่ใช้ในการบำบัดผู้ติดสุรา แต่มีข้อจำกัดต้องเว้นจากการดื่มสุรา 2 สัปดาห์ หากใช้ยาร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเกิดอาการต่างๆ เช่น หน้าแดง ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออกมาก กระหายน้ำ ใจสั่น หายใจลำบาก ถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตได้ ซึ่งผู้ติดสุราส่วนใหญ่ยังเลิกดื่มไม่ได้ ดังนั้น แพทย์จึงไม่สั่งใช้เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย

ส่วนยาใหม่ 2 ตัวที่นำมาใช้แทนพบว่ามีประสิทธิภาพและลดการเสพซ้ำได้ เนื่องจากไปลดความอยากสุราได้ โดยยา 2 ตัวนี้จะใช้แยกกัน โดยยานาลเทรกโซนจะใช้ในผู้ที่ไม่มีอาการตับอักเสบ ซึ่งตัวนี้กินวันละเม็ด ส่วนยาอะแคมโพรเสตจะใช้ในผู้ที่มีอาการตับอักเสบ กินวันละ 3 เวลา แต่จะค่อยๆ ลดปริมาณลงหากมีอาการติดสุราดีขึ้น ทั้งนี้ พยายามจะนำเข้าและขึ้นทะเบียนให้ได้ภายใน 3 เดือน เพื่อนำมาทดลองใช้ในผู้ป่วย 2 หมื่นคนที่ติดสุรา เมื่อรักษาประมาณ 6 เดือน จะประเมินความคุ้มค่า

หากผลดีก็จะเสนอ สปสช.ในการนำเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติต่อไป ถือเป็นความหวังใหม่ในการช่วยเลิกแอลกอฮอล์ ยาทั้งสองตัวนี้หมดสิทธิบัตรแล้ว ทำให้เราซื้อได้ และราคาถูกกว่าเดิมประมาณเกือบ 10 เท่า ส่วนการที่ประเทศไทยจะผลิตเองก็คงต้องดูว่าใช้ดีแค่ไหน และมีปริมาณการใช้มากน้อยแค่ไหน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน