มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดรายละเอียดการซ้อมทรมานด้วยการคลุมถุงดำ เผยเรื่องราวการต่อสู้และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของเหยื่อ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยเรื่องราวรายละเอียดการซ้อมทรมานของตำรวจด้วยการคลุมถุงดำ เพื่อให้ผู้ต้องสงสัยหรือแพะรับสารภาพ ในหนังสือ “เมื่อผมถูกทรมาน จึงมาตามหาความยุติธรรม”
เนื้อหาในหนังสือบางตอนบอกเล่าว่า

“ตำรวจคนเดียวกันก็เอาถุงมาครอบหัวผม และรวบปากถุงไม่ให้มีอากาศหายใจ ผมหายใจไม่ออกจึงพยายามกัดถุงพลาสติกให้ขาด เขาจึงเอาถุงออกแล้วถามว่า ‘มึงจะรับสารภาพหรือยัง?’ ผมก็ปฏิเสธและบอกว่า ‘ไม่รู้เรื่อง’

ตำรวจคนนั้นก็นำถุงพลาสติกใบใหม่มาครอบหัวผมอีก ผมที่หายใจไม่ออกจึงต้องพยายามกัดถุงให้ขาดอีกครั้ง ตำรวจจึงโพล่งถามขึ้นมาอีกครั้งว่า ‘มึงจะรับสารภาพหรือยัง มึงบอกมาว่าเอาของกลางไปไว้ที่ไหน?’ เพื่อให้ผมรับสารภาพให้ได้ว่า ผมเป็นคนทำ แต่ผมก็ยังยืนยันตอบเขาไปว่า ‘ผมไม่รู้เรื่องอะไรเลย’

พอผมตอบแบบนั้น เขาก็เอาถุงพลาสติกอีกใบมาครอบหัวผมและถามแบบเดิมอีกครั้ง แต่คราวนี้นายตำรวจอีกคนก็ได้เข้ามาร่วมทำร้ายร่างกายผมด้วยการใช้เท้าเหยียบเข้าที่สีข้างและลำตัวของผม จากนั้นเขาก็ดึงกุญแจมือเพื่อให้ผมลุกขึ้นนั่ง ผมก็ได้พยายามกัดปากถุงจนขาดอีกครั้ง เขาก็เลยเอาถุงพลาสติกใบใหม่ครอบหัวผมอีก และถามคำถามเดิมซ้ำอีกครั้งและดาบตำรวจชายยังคงต่อยตีเข้าที่บริเวณศีรษะและทั่วลำตัวของผม จนผมรู้สึกเจ็บจนอ่วมและชาไปหมดทั้งตัว”

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เขียนไว้ในคำนำของหนังสือ ดังนี้

กระบวนการยุติธรรม คือ กระบวนการที่นำมาสู่การยุติ เพื่อความเป็นธรรม เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แต่ในความเป็นจริง หลายกรณีเป็นเรื่องตรงกันข้าม เมื่อกระบวนการยุติธรรม กลับเป็นผู้สร้างความอยุติธรรม ทั้งนำความเดือดร้อนมาสู่ประชาชนและสังคม

“ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร” เด็กหนุ่มชั้น ม.6 ที่เตรียมอนาคตเข้ามหาวิทยาลัย กลับกลายเป็น ”แพะ” ที่ตำรวจซ้อมทรมาน และยัดข้อหาวิ่งราวทรัพย์ผู้อื่น คนบริสุทธิ์จะกลายเป็นอาชญากร

คนธรรมดา อย่าง “สมศักดิ์ ชื่นจิตร” ต้องลุกขึ้นมาปกป้องลูกชาย ต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ได้ความเป็นธรรม สู้กับระบบตำรวจที่ใช้การซ้อมทรมาน เพื่อให้ได้ “แพะ” และปิดคดีได้ผลงาน
สู้กับระบบอิทธิพลการเมืองท้องถิ่น ที่มีผลประโยชน์ เอื้อต่อกันโดยมิชอบ

และเผชิญกับระบบการตรวจสอบที่ไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐที่ไปร้องเรียนขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กองบังคับการปราบปราม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) อัยการจังหวัด และอีกกว่า 30 หน่วยงาน

ยิ่งต่อสู้ ยิ่งเห็นถึงความบกพร่องของระบบยุติธรรม จนที่สุด ฤทธิรงค์ เหยื่อที่ถูกซ้อมทรมาน ที่กล้าออกมาพูดความจริง กลับถูกตำรวจที่ทำร้ายฟ้อง และศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกฤทธิรงค์ 5 ปี และปรับ 100,000 บาท โดยจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี

แต่สมศักดิ์ไม่ถอย ไม่หยุด แม้ครอบครัวจะเผชิญกับความยากลำบาก และความสูญเสียจากการออกมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม ด้วยการนำเรื่องขึ้นสู่ศาล เพื่อให้ศาลให้ความยุติธรรม และให้ผู้กระทำความผิดได้รับการลงโทษ ตำรวจจะไปซ้อมทรมานใครอีกไม่ได้ เพราะเป็นความผิด
แจ้งความเท็จและพยานเท็จเพื่อใส่ความผู้อื่นต้องไม่มีการกระทำอีก ไม่ใช่การต่อสู้เพียงเพื่อลูกชาย

แต่เป็นการต่อสู้เพื่อให้สังคมทั้งหมดดีขึ้น ให้กระบวนการยุติธรรม เป็นการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างแท้จริง

12 ปีแห่งการต่อสู้ของสมศักดิ์ แม้ไม่ชนะทั้งหมด มีการสูญเสีย แต่ไม่ใช่การสูญเปล่า กลับเป็นจุดให้ต้องกลับมามองและเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง ต้องปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูประบบราชการ

ทั้งต้องมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ออกมาบังคับใช้เพื่อป้องกัน ปราบปรามและเยียวยาการซ้อมทรมานและการอุ้มหายอย่างจริงจัง

เรื่องราวของ ฤทธิรงค์-สมศักดิ์ ชื่นจิตร แสดงถึงพลังของความเป็นมนุษย์ ที่ไม่ยอมต่อความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับตนเองและสังคม เพื่อช่วยสร้างสรรค์สังคมให้สงบสุข ขอเพียงเชื่อมั่นใน “ความเป็นธรรม” ดังที่สมศักดิ์มีตลอดมา

ผู้สนใจหนังสือ “เมื่อผมถูกทรมาน…ผมจึงมาตามหาความยุติธรรม” สามารถกรอกรายละเอียดเพื่อชำระเงินสั่งซื้อผ่านทาง https://forms.gle/zb9hXYPy2QrKo5GE6 ราคา เล่มละ 200 บาท

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มอบหนังสือให้ สมศักดิ์ ชื่นจิตร พ่อผู้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้ลูกชายจากการซ้อมทรมาน

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน