วันที่ 28 กันยายน 2564 เครือเจริญโภคภัณฑ์ ดับบลิวเอชเอ และ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ นำโดย นายศักดิ์ชัย บัวมูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส/หัวหน้าสายงานด้านวิศวกรรมและการออกแบบ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ นายณัฐพรรษ ตันบุญเอก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น พญ.ธัญลักษณ์ ศรีบูระเดช ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ รพ.จุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ พร้อมคณะผู้บริหารของทั้ง 3 องค์กร

พาสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมและดูความพร้อมก่อนจะเปิดอย่างเป็นทางของโรงพยาบาลสนามแห่งใหม่ ขนาด 600 เตียง ภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลสนาม ซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์” ที่โครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ (ชลหารพิจิตร กม. 4) จังหวัดสมุทรปราการ

รพ.สนาม แห่งนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่อาคารคลังสินค้าขนาด 15,000 ตารางเมตร ของดับบลิวเอชเอสำหรับรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งได้แบ่งเป็นโซนสีเหลืองเข้ม 317 เตียง และ โซนสีส้ม 88 เตียง รวม 405 เตียง ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ตลอด 24 ชั่วโมง

นายศักดิ์ชัย บัวมูล กล่าวว่า รพ.สนาม แห่งนี้ มีความพร้อมมากกว่า 90% ซึ่งจะพร้อมเปิดให้บริการได้ในต้นเดือนตุลาคม 2564 โดยเป็น รพ.สนาม ที่มีการกำหนดพื้นที่อย่างชัดเจน มีการจัดระบบสาธารณูปโภคครบถ้วนเทียบเท่าโรงพยาบาลมาตรฐานทั่วไป โดยมีระบบกรองน้ำอาร์โอล้างเครื่องมือแพทย์ ระบบก๊าซทางการแพทย์จัดการไอระเหยไม่ให้ปนเปื้อนกับอากาศภายใน มีการฆ่าเชื้อระบบน้ำเสียต่างๆ โดยใช้ระบบคลอรีน ครบถ้วนตรงตามหลักมาตรฐานสาธารณสุข มีการกั้นพื้นภายใน แบ่งเป็น 4 โซน ได้แก่ โซนสีส้ม 1โซน สีเหลือง 3 โซน และแยกพื้นที่จัดส่งอาหาร-แยกผ้าสะอาด-ขยะ-ทางเข้าออกผู้ป่วยกับเจ้าหน้าที่ ชัดเจน รวมถึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ และ wifi ครอบคลุมทุกพื้นที่

สำหรับ 405 เตียง ทุกเตียงจะมีเครื่องออกซิเจน จัดให้แบบครบวงจรโดยมีเครื่องออกซิเจนไฮโฟลว์ 200 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจอีก 30 เครื่อง หรือคิดเป็น 70% ของจำนวนเตียงผู้ป่วยสีส้ม เนื่องจาก รพ.สนาม แห่งนี้รองรับเคสหนักเหมือนโรงพยาบาล ซึ่งมีจุดบริการฟอกไตด้วย โดยจะรองรับได้ถึง 10 เตียง

นายณัฐพรรษ กล่าวว่า เป็นรพ.สนาม ที่มีครบทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก ระบบต่างๆ ภายในตัวอาคาร ซึ่งอยู่ในโลเคชั่นที่ถือว่าไม่ใกล้หรือไกลเกินไปจากโรงพยาบาลจุฬารัตน์ สามารถส่งผู้ป่วยที่เกินสีส้มได้ภายใน 10-15 นาที ทั้งนี้ได้มองว่า กลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองจะต้องช่วยกันมากๆ ในเวลานี้ และดีใจที่โครงการนี้เกิดขึ้น คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดโดยรอบ 400 กว่าเตียงในเฟสแรกที่จะเปิดน่าจะช่วยแบ่งเบาภาระในระบบได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีพื้นที่เหลืออีก 5,000 ตร.ม. หากมีความต้องการก็สามารถขยายได้ในเฟสต่อไป

ขณะที่ การแพทย์-การพยาบาล ที่เตรียมไว้สำหรับ รพ.แห่งนี้ พญ.ธัญลักษณ์ กล่าวย้ำว่า ทุกเตียงจะต้องต่อออกซิเจนได้ และสิ่งที่เตรียมตามมาอีกคือ เครื่อง High Flow ที่เตรียมไว้ 200 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจอีก 30 เครื่อง โดยสามารถให้ออกซิเจนในระดับ 3- 4 ลิตร และเครื่อง High Flow 60 ลิตร นอกจากนั้นยังมีห้องยา ห้องตรวจ Lab เอกซเรย์ ที่ครบเสมือนโรงพยาบาลมาตรฐานทั่วไป

ในส่วนบุคลากรก็ได้เตรียมพยาบาล 40-50 คน ตลอด 24 ชั่วโมง แพทย์ที่ใช้เป็นแพทย์อายุรแพทย์เท่านั้น แพทย์เฉพาะทางหัวใจ-ไต-ตับ-ปอด มีพร้อม และมีแพทย์มาจาก 2 โรงพยาบาลหลักคือ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ กับ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต โดยเบ็ดเสร็จแล้วจะมีอายุรแพทย์อยู่ที่นี่ไม่ต่ำกว่า 15 คน และจะมีแพทย์อยู่ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนั้นยังเตรียมเครื่องล้างไต 10 เตียง เนื่องจากว่าล้างไต 1 รอบใช้เวลา 4 ชั่วโมง จึงทำให้ล้างไตได้ถึง 20 เคสต่อวันแบบสบายๆ สิ่งที่ซีพีเอฟทำให้ทั้งหมด มองว่า ไม่ใช่เรื่องชั่วคราว แต่เป็นในลักษณะใช้ได้ถาวรระยะยาว

“70% เรารักษาเคสโควิด ตลอด 3 เดือน มีคนไข้ที่ไม่ใช่โควิดต้องรอการรักษา หากเอาเคสโควิดออกจากโรงพยาบาลมาอยู่ที่นี่ และห่างโรงพยาบาล 10 นาที จะช่วยแบ่งเบาภาระในระบบได้ ซึ่งถ้าเกิดมีเคสผ่าตัดก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็วเพราะเรามีวอร์ด ICU โควิดรองรับอยู่ที่ รพ. ดังนั้น รพ. แห่งนี้ จึงมีความพร้อมค่อนข้างมาก” พญ.ธัญลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน