เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ดับบลิวเอชเอ) และ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ นำโดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดับบลิวเอชเอ และ นพ.กำพล พลัสสินทร์ กรรมการบริษัท ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ กลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์

ร่วมพิธีเปิดโรงพยาบาลสนาม “ซีพี-ดับบลิวเอชเอ-จุฬารัตน์ ” ขนาด 600 เตียง ที่โครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ (ชลหารพิจิตร กม.4) จ.สมุทรปราการ พร้อมทั้งพาสื่อมวลชนเข้าสำรวจความพร้อมภายในโรงพยาบาลสนาม เพื่อแสดงถึงความพร้อมในการใช้งานของระบบ และเทคโนโลยีต่างๆ ให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 ในกลุ่มสีเหลืองและสีส้ม

ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์และพยาบาลจากเครือโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้จะสามารถเปิดรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารับการรักษาได้ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม เป็นต้นไป โดยกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์จะเป็นผู้คัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ส่งต่อมารับการรักษาที่โรงพยาบาล “ซีพี-ดับบลิวเอชเอ-จุฬารัตน์”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการปรับอาคารสินค้าขนาดพื้นที่กว่า 15,000 ตารางเมตร ให้กลายเป็นโรงพยาบาลสนามซึ่งมีมาตรฐานเทียบเท่ากับโรงพยาบาลหลัก และถือเป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลสนามที่มีความพร้อมด้านการแพทย์เต็มรูปแบบสำหรับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 “กลุ่มสีเหลือง–ส้ม” โดยทุกเตียงจัดให้มีเครื่องออกซิเจนแบบครบวงจร มีเครื่องออกซิเจนไฮโฟลว์ 200 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจอีก 30 เครื่อง หรือคิดเป็น 70% ของจำนวนเตียงผู้ป่วยสีส้ม

อีกทั้งยังมีจุดบริการฟอกไต โดยสามารถรองรับได้ถึง 10 เตียง หรือ 20 เคสต่อวัน นอกจากนี้ ยังกำหนดโซนผู้ป่วยชัดเจน แยกพื้นที่จัดส่งอาหาร-แยกผ้าสะอาด-ขยะ-ทางเข้าออกผู้ป่วยกับเจ้าหน้าที่ รวมถึงมีระบบระบายอากาศแบบ “Negative Pressure”

สำหรับโซนผู้ป่วย และแบบ “Positive Pressure” สำหรับโซนแพทย์และพยาบาล มีระบบกรองน้ำอาร์โอล้างเครื่องมือแพทย์ การฆ่าเชื้อระบบน้ำเสียต่างๆ โดยใช้ระบบคลอรีน ครบถ้วนตรงตามหลักมาตรฐานสาธารณสุข และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และ wifi ครอบคลุมทุกพื้นที่

นายศุภชัย กล่าวว่า เป็นนโยบายของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ต้องการตอบแทนคุณแผ่นดิน ที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ช่วยเหลือสังคม ทั้งการก่อตั้งโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย ตลอดจนมีการมอบอาหารเพื่อสนับสนุนภารกิจทีมแพทย์-พยาบาลทั่วประเทศ การผลิตสมุนไพรฟ้าทะลายโจร จนมาถึงโรงพยาบาลสนาม

ด้วยเป้าหมายคือเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด โดยโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1,000 เตียง สามารถหมุนเวียนผู้ป่วยเข้า-ออกได้ประมาณ 20,000 คน ระยะแรกจะเริ่มต้นที่ 600 เตียงก่อน และตามมาอีก 400 เตียง แต่ทั้งนี้ต้องดูสถานการณ์ผู้ป่วยภายในประเทศด้วย

“แม้สถานการณ์ในปัจจุบันจะเริ่มคลี่คลาย แต่ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้ป่วยวิกฤตเป็นจำนวนมาก โรงพยาบาลสนามจึงยังคงมีความจำเป็นในการแยกผู้ป่วยติดเชื้อโควิดออกจากผู้ป่วยโรคทั่วไป และเพื่อช่วยให้โรงพยาบาลหลักยังสามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโรคทั่วไปตามปกติเหมือนเดิม เครือเจริญโภคภัณฑ์ในฐานะบริษัทเอกชนไทย จึงมีนโยบายสร้างโรงพยาบาลสนาม 3 แห่ง เพื่อสู้ภัยโควิด โดยโรงพยาบาลสนามแห่งแรกจับมือร่วมกับพันธมิตร 2 องค์กร คือ WHA และกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ สร้างโรงพยาบาลสนามซีพี-ดับบลิวเอชเอ-จุฬารัตน์ รองรับผู้ป่วยโควิดระดับสีเหลืองถึงสีส้ม

“โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของพวกเราทั้ง 3 องค์กร ที่มีหัวใจและความมุ่งมั่นที่จะทำประโยชน์ให้สังคม เราได้ระดมกำลังสร้างโรงพยาบาลสนามแห่งนี้เสร็จสมบูรณ์ภายใน 35 วัน มีศักยภาพรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีส้มทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง โดยมีมาตรฐานเทียบเท่าโรงพยาบาลหลัก เพราะมีความพร้อมด้านระบบการแพทย์เต็มรูปแบบ เพื่อทำการรักษาและติดตามอาการของผู้ป่วยโควิดอย่างใกล้ชิด” นายศุภชัยกล่าว

นายศุภชัยกล่าวอีกว่า นอกเหนือจากโรงพยาบาลสนาม ซีพี-ดับบลิวเอชเอ-จุฬารัตน์ เครือซีพียังดำเนินการอีก 3 โครงการเพื่อน้อมรำลึกถึงพ่อหลวงของแผ่นดิน คือ โรงพยาบาลสนามเลิดสิน-กรมการแพทย์-ซีพี-พฤกษา บนถนนสีลม ตรงข้ามโรงพยาบาลเลิดสิน จุดนี้รองรับผู้ป่วยสีเหลือง-สีแดง และอีกแห่งคือศูนย์พักคอย ซีพี-รามคำแหง-นพรัตน์ราชธานี รองรับผู้ป่วยสีเขียวและเหลืองอ่อน นอกจากนี้ ยังได้มีโครงการปันปลูกฟ้าทะลายโจร บนที่ดิน 100 ไร่ ที่จังหวัดสระบุรี เพื่อผลิตยาฟ้าทะลายโจรจำนวน 30 ล้านแคปซูลแจกฟรีในช่วงวิกฤตโควิด-19

ด้าน น.ส.จรีพร กล่าวว่า ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการร่วมมือร่วมใจของภาคเอกชนในการช่วยเหลือสังคม โดยดับบลิวเอชเอได้มอบพื้นที่คลังสินค้า ขนาดเนื้อที่ 15,294 ตารางเมตร ภายในโครงการดับบลิวเอชเอ เป็นสถานที่สร้างโรงพยาบาลสนามโดยไม่คิดค่าเช่า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประโยชน์เพื่อช่วยเหลือประเทศไทยและประชาชน

“นอกจากเรื่องบริจาค การช่วยเหลือชุมชนในนิคมอุตสาหกรรม โรงงานการผลิตเราก็ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นกำลังการผลิตที่สำคัญของการส่งออก เพราะถ้าเมื่อไรที่ระบบการผลิตหยุดชะงัก ปัญหาของประเทศจะเกิดขึ้นทันที เพราะว่าการส่งออกคือเครื่องยนต์ของประเทศเครื่องเดียวที่เหลืออยู่ในตอนนี้ ภาคการท่องเที่ยวพังไปแล้ว

ดังนั้นต้องทำระบบทุกอย่างเพื่อให้นิคมอุตสาหกรรม ไม่มีการติดเชื้อและไม่เกิดการหยุดชะงัก เรามีคลังสินค้าทั้งหมดให้เช่ากว่า 2.5 ล้าน ตร.ม. เราพยายามดูว่าอาคารไหนของเราที่จะสามารถทำ รพ.สนามได้ ซึ่งเป็นจังหวะที่นายธนินท์ ต้องการให้มี รพ.สนาม เกิดขึ้น และเราก็มีอาคารติดแอร์ซึ่งเดิมทีสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นอาคารเก็บยา เหมาะอย่างยิ่งที่จะทำ รพ.สนาม สีเหลือง-ส้ม และซีพีสามารถที่จะประสานกับ รพ.จุฬารัตน์ รับดูแลทั้งหมด ทุกอย่างลงตัวโดยเราสามารถให้พื้นที่ได้

ขณะที่ซีพีสามารถนำเทคโนโลยี ดิจิทัล มาจัดสร้างได้ และจุฬารัตน์พร้อมคณะแพทย์ทั้งหมดเข้ามาทำได้ ซึ่งถ้าเราเอาผู้ป่วยโควิดสีเหลือง สีสม จาก รพ.หลัก มาที่รพ.สนามแห่งนี้ได้ รพ.หลัก ก็จะสามารถรองรับผู้ป่วยที่ควรจะได้เข้ารับการรักษา ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคอื่นๆ ลงได้”

ขณะที่ นพ.กำพล กล่าวถึงความพร้อมว่า รพ.สนามแห่งนี้ สามารถรับเคสผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง สีส้ม สีส้มถึงสีแดงได้ เป็น รพ.ที่บริการผู้ป่วยแบบ “One Stop Service” สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งหนึ่งที่เคยสร้างมาในไทยในระยะเวลาอันสั้น รพ.สนามแห่งนี้มองปัญหาทั้งหมดอย่างรอบด้าน จะมีทั้งแผนกฟอกไต การเจาะเลือดตรวจวิเคราะห์ต่างๆ

โดยมีห้อง LAB ห้องยา และทุกเตียงใช้สเปคเตียง ICU เหมือนใน รพ. มีหัวจ่ายก๊าซทางการแพทย์ ที่ไม่ต้องลากสายต่างๆ หรือท่อต่างๆ รวมถึงเรามีเครื่องเอกซเรย์ปอดเคลื่อนที่ นอกจากนี้โซนผู้ป่วย 600 เตียงจะอยู่ในห้องความดันลบทั้งหมด ส่วนห้องทำงานของเจ้าหน้าที่พยาบาลเป็นห้องความดันบวกทั้งหมด เรียกได้ว่าเป็น รพ.สนาม ที่ทันสมัยโดยมีระบบการแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ที่ได้มาตรฐานตามกฎระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข และมีระบบการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่เทียบเท่าโรงพยาบาลหลัก ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ปลอดภัย

ทั้งนี้ กลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ได้เตรียมพร้อมด้านศักยภาพการแพทย์ต่างๆ เพื่อประจำการที่โรงพยาบาลสนาม จัดเตรียมทีมอายุรแพทย์ไม่ต่ำกว่า 15 คน พยาบาลและทีมสหวิชาชีพประมาณ 40-50 คน พร้อมทีมสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์มาร่วมดูแลผู้ป่วย ตลอด 24 ชั่วโมง

ภายในโรงพยาบาลสนามมีห้องยาและเวชภัณฑ์ ห้อง Lab ห้องเอกซเรย์ ตลอดจนมีนักโภชนาการในการดูแลอาหารผู้ป่วยเฉพาะโรค มีระบบไตเทียมโมบายไว้รองรับกรณีผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อน อีกทั้งยังมีระบบบริหารจัดการเสื้อผ้าผู้ป่วยเสมือนในโรงพยาบาลหลักเพื่อความสะดวกของผู้ป่วย

ดังนั้น โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่มีมาตรฐานสามารถช่วยชีวิตประชาชนได้มากขึ้น และช่วยแบ่งเบาภาระให้กับสาธารณสุขภาครัฐได้เป็นอย่างมาก

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน