การปกครองท้องถิ่น นอกจากเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแล้ว ยังมีความสำคัญในการแบ่งเบาภารกิจราชการส่วนกลาง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา จะรับผิดชอบเรื่องบริการสาธารณะต่างๆ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น

หนึ่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากคือ “เทศบาล” เพราะเป็นตัวแทนของชาวบ้านโดยตรง และด้วยความใกล้ชิดกับคนในชุมชน จึงเห็นปัญหาต่างๆ อย่างชัดแจ้ง นำสู่การแก้ปัญหาอย่างตรงจุด และยังสามารถพัฒนาท้องถิ่นได้ตรงตามความต้องการที่แตกต่างกันไปตามบริบทแต่ละพื้นที่

ศูนย์รวม “เทศบาล” ใกล้ชิดประชาชนกว่า 60 ปี

เพื่อส่งเสริมความร่วมมืออันดีระหว่างเทศบาลด้วยกันและกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงก่อเกิด สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ขึ้นในปี 2503 โดย ศุภสัณห์ หนูสวัสดิ์ เลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวถึงที่มาและบทบาทหน้าที่ของสมาคมฯ ว่า

ย้อนไปเมื่อราว 60 กว่าปีก่อน ประเทศไทยยังมีเทศบาลไม่มาก การสัญจรไปมาและการสื่อสารพบปะพูดคุยกันยังค่อนข้างยาก จึงมีการจัดตั้งสมาคมฯ ขึ้น เป็นศูนย์รวมของเทศบาลให้ได้มาแลกเปลี่ยนถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการต่างๆ ระเบียบข้อกฎหมาย ตลอดจนปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการบริหารงาน เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ต่อมา มีพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542 เป็นผลให้สุขาภิบาล 984 แห่งทั่วประเทศเปลี่ยนเป็นเทศบาล และเข้ามาเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ซึ่งปัจจุบันมีเทศบาลทั่วประเทศประมาณ 2,500 แห่ง แม้จำนวนจะเพิ่มขึ้นมาก แต่บทบาทหน้าที่หลักของสมาคมฯ ยังเป็นไปตามวัตถุประสงค์และข้อบังคับเดิม

อย่างไรก็ตาม ศุภสัณห์บอกว่า เนื่องจากโลกและวิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปมาก สมาคมฯ จึงขยายองค์ความรู้สู่ภายนอกมากขึ้น พร้อมกับจัดตั้งสำนักวิจัย เพื่อทำวิจัยเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทศบาล อาทิ ปัญหา อุปสรรค ข้อกฎหมาย ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันวิชาการต่างๆ โดยมีสถาบันพระปกเกล้าเป็นหลัก ซึ่ง ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้ให้ความอนุเคราะห์สมาคมฯ มาเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังทำงานร่วมกับคณาจารย์ที่มีความรู้ด้านท้องถิ่นอีกหลายคน เช่น รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สกล ลีโนทัย อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารการคลังท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตลอดจนนักวิชาการรุ่นใหม่ อย่าง รศ.ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น

“ยุคนี้เราเน้นการสื่อสารบทบาทของสมาคมฯ และองค์ความรู้ต่างๆ ออกสู่มวลสมาชิกและสาธารณชนอย่างรวดเร็วทุกช่องทาง ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ ทีวี และโซเชียลมีเดีย ประกอบกับหลังจากมีการเลือกตั้ง ก็ได้สมาชิกซึ่งเป็นผู้บริหารเทศบาลรุ่นใหม่ถึง 70% ทั้งหมดล้วนมีความรู้ความสามารถ และมีแนวคิดที่หลากหลาย เพราะฉะนั้น การสื่อสารที่มีคุณภาพจะทำให้ผู้บริหารเทศบาลทั่วประเทศได้รับรู้ข้อมูลอย่างถูกต้องรวดเร็ว เพื่อร่วมกันระดมสมองแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และหาแนวทางพัฒนาท้องถิ่นให้ยั่งยืน” เลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลฯ กล่าว

อีกประการหนึ่งที่สมาคมฯ และเทศบาลทุกแห่งทั่วประเทศให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดคือ การสานต่อโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อสนองพระราชปณิธานในการทำให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เคียงข้างประชาชนทุกสถานการณ์

แม้เทศบาลจะเป็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อเอื้อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่ แต่การดำเนินงานหลายครั้งอาจขลุกขลักบ้าง เนื่องจากเผชิญปัญหาที่เกิดจากกฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย หรือได้รับผลกระทบจากข้อกฎหมายใหม่ ซึ่งศุภสัณห์กล่าวว่า ถือเป็นหน้าที่ของสมาคมฯ ที่ต้องศึกษาข้อมูลและระดมความคิดในหมู่สมาชิก และคณะกรรมาธิการบริหารของสมาคมฯ

“เรื่องการออกกฎหมายใหม่ แล้วส่งผลกระทบต่อการทำงานนั้น ไม่ได้หมายความว่าเทศบาลและสมาคมฯ จะไม่เห็นด้วยทั้งหมด เป็นเพียงบางมาตราเท่านั้น

“นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการตรวจสอบที่เราอยากขอว่า อย่าใช้ดุลยพินิจหรือตั้งสมมติฐานว่าท้องถิ่นนั้นทุจริต ควรมองว่าผลสัมฤทธิ์ของแต่ละโครงการเป็นอย่างไร คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ไปหรือไม่ บางโครงการก็มีความคุ้มค่าในแง่การแสดงถึงศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ความเป็นชาติไทย ซึ่งไม่สามารถตีราคาว่าถูกหรือแพงได้” ศุภสัณห์เผย

ขณะที่ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดนั้น เลขาธิการสมาคมฯ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือ เรื่องรายได้ที่ลดลง เป็นผลจากหลายปัจจัย เช่น มีการชะลอการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตต่างๆ ขณะที่รายจ่ายของท้องถิ่นไม่สามารถลดลงได้ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการให้บริการประชาชน

“การที่เทศบาลอยู่ใกล้ชิดประชาชนในพื้นที่ ทำให้เห็นว่าเขาเดือดร้อนเรื่องอะไรบ้างในช่วงโควิด ถึงส่วนกลางไม่ได้มีคำสั่งให้จัดทำถุงยังชีพ แต่หน้าที่ของเทศบาลต้องช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว เมื่อเห็นว่าเขาไม่มีข้าวกิน เราก็ต้องหุงข้าวให้เขากิน หรือถ้าเขาพอจะหุงกินเองได้ เราก็ต้องจัดหาข้าวสารให้ แม้รายได้ของเทศบาลจะลดลง แต่เราก็ไม่สามารถทอดทิ้งประชาชนได้”

ท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศก้าวหน้า

เลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เผยถึงทิศทางต่อไปของสมาคมฯ ว่า ในส่วนวิชาการจะทำให้เห็นเด่นชัดขึ้น ขณะนี้ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำวิจัยเรื่องการหารายได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อย้ำถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพราะการที่ประเทศจะเจริญก้าวหน้านั้น ต้องเริ่มต้นที่ท้องถิ่น และหากท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศชาติก็จะมั่งคั่งได้อย่างแน่นอน

เพื่อให้เห็นภาพ ศุภสัณห์ยกตัวอย่างเรื่องการศึกษา ที่อยู่ภายใต้การดูแลของเทศบาล โดยจัดการเรียนการสอนหลักสูตรเดียวกับกระทรวงศึกษาธิการ ที่เมื่อวัดคุณภาพด้วยการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) หรือ Good Practice ของแต่ละโรงเรียน พบว่า นักเรียนของโรงเรียนเทศบาลนั้นทำได้ในระดับดีเลยทีเดียว

“ผมทำงานในท้องถิ่นมาเกือบ 30 ปี ภูมิใจที่ชาวบ้านคุยกับเราได้ทุกเรื่อง เดินตลาดก็มีคนเรียกให้ช่วยเข็นรถ หรือบางคนมอเตอร์ไซค์สตาร์ทไม่ติดก็มาบอกให้ช่วยไปตามช่าง ถ้าประชาชนเรียกใช้เราขนาดนี้ แสดงว่าเขาเปิดใจคุยกับเราได้แทบทุกเรื่อง หรือเวลาเขาคิดอะไรไม่ออกก็จะมาที่เทศบาล สะท้อนให้เห็นว่า เทศบาลมีความพร้อมบริการประชาชนได้ทุกเรื่อง เพราะเขารู้สึกว่า เทศบาลคือครอบครัวของประชาชน

“ความสำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐ ทุกปัญหาที่เกิด ต้องเริ่มต้นแก้ที่ท้องถิ่น เพราะคนในพื้นที่ย่อมต้องการให้บ้านเกิดดีขึ้น

“ถ้าต้องการให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะหลังโควิด ส่วนกลางต้องโยนภาระให้ท้องถิ่น หมายถึงมอบความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้การสนับสนุน และส่งเสริมการกระจายอำนาจเต็มรูปแบบ หากทำเช่นนี้มั่นใจว่า จะทำให้ประเทศชาติฟื้นได้เร็วอย่างแน่นอน” ศุภสัณห์ย้ำหนักแน่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน