นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ส.ว. กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา เผยแพร่ช้อมูลเกี่ยวกับช้างป่าไทย ในฐานะผู้ทำงานรณรงค์การอนุรักษ์และแก้ปัญหาเกี่ยวกับช้างมาอย่างยาวนาน

“ช่วงเวลานี้เกิดข่าวคราวการกระทบกระทั่งกันระหว่างช้างป่ากับชุมชนติดป่าในหลายพื้นที่ของไทย เช่น ป่าภาคตะวันออก ป่าภาคตะวันตก ป่ารอบเขาใหญ่ ที่ถี่ขึ้น มีความสูญเสียอย่างน่าเสียดายแทนทั้งสองฝ่ายอย่างต่อเนื่อง

คณะอนุกรรมาธิการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ตั้งโดยคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา จึงจัดประชุมรับฟังข้อมูลจากผู้มีประสบการณ์ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการชุดนี้ ผมได้มีโอกาสทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาระหว่างช้างป่ากับชุมชนในเขตรอบชายป่าของไทยที่พอนำมาประมวลสรุปจากการชี้แจงของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกันในภาคสนามพร้อมข้อสังเกตได้ดังนี้

1.ช้างป่าของไทยมีราว สามพันแต่ยังไม่เกินสี่พันตัว มีอัตราการเพิ่มยังไม่สูงมาก แต่มีบางพื้นที่ๆอัตราขยายตัวเร็วกว่าพื้นที่อื่น ในขณะที่ ศรีลังกามีช้างป่าไม่น้อยกว่าไทย โดยมีพื้นที่ประเทศเล็กกว่าไทยเป็นเท่าตัว ศรีลังกาจึงเคยเผชิญปัญหานี้เข้มข้นกว่าของไทยมากทีเดียว แถมช้างเอเชียพันธุ์ศรีลังกานั้น ถือเป็นช้างที่มีรูปร่างใหญ่ที่สุดในสายพันธุ์ช้างเอเชียเสียด้วย ประสบการณ์ของศรีลังกาคือ ในช่วงหนึ่งที่ช้างศรีลังกาถูกประชากรมองว่าเป็นสัตว์ส่วนเกินและเป็นผู้ทำลายพืชไร่อย่างสำคัญ ช้างป่าศรีลังกาที่เคยมีถึงเกือบ2หมื่นตัวถูกทำให้ลดหายจนเหลือเพียงห้าหกพันตัวในช่วงเวลาแค่ศตวรรษเดียว

2.ช้างป่าของไทยส่วนมาก ยังอยู่ลึกเข้าไปในป่า ช้างป่าที่ออกมามีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนที่อยู่ติดเขตป่านั้น ยังเป็นส่วนน้อยของช้างป่า แต่ถ้าไม่ดำเนินการไว้ให้ดี ปัญหานี้จะขยายตัวได้อีกพอควร แถมยังมีช้างป่ากัมพูชาก็ดี ช้างป่าในเมียนมาร์ก็ดีทยอยอพยพหลบการรุกไล่ของทุนและการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่เข้ามาตามป่ารอยต่อจนข้ามชายแดนไทยเข้ามาเพิ่มในบางช่วงที่ผ่านมา

3.เมื่อคำนวณด้วยคณิตศาสตร์อย่างหยาบๆ ช้างป่าของไทยมีอัตราความหนาแน่นเมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่ป่าที่หนึ่งตัว/15ตารางกิโลเมตร จึงนับว่ายังไม่หนาแน่นเกินไป และยังมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มคุณภาพให้พื้นที่ป่าอาศัยของช้าง เช่นการเพิ่มแหล่งน้ำ เติมการปลูกพืชอาหาร และพัฒนาให้มีทุ่งหญ้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดการหลงหลุดหรือการดั้นด้นของช้างออกจากป่ามากระทบกระทั่งกับมนุษย์ได้ดีขึ้น

4.ปกติช้างป่าจะอยู่เป็นกลุ่ม และจะหากินร่วมกันโดยเจ้าหน้าที่คุ้มครองสัตว์ป่าสังเกตว่าพฤติกรรมของช้างอายุน้อยๆจะชี้นำการเลือกเดินหากิน โดยตัวแม่จะเดินตามไปดูแลลูกๆ อย่างใกล้ชิด ส่วนตัวผู้ตามหลังมาเพื่อช่วยอารักขา ช้างจ่าโขลงมักมีบทบาทในทางการทำหน้าที่คุ้มครองมากกว่าเป็นผู้ชี้นำการเดินทางของกลุ่ม

5.ช้างตัวผู้ที่หลงออกจากป่ามา เจ้าหน้าที่รักษาป่าสังเกตว่ามักเป็นช้างหนุ่มที่ถูกขับออกจากฝูง เพราะเป็นช้างแก่หรือบางตัวไม่แก่แต่โดนช้างหนุ่มที่แข็งแรงกว่าขับออกมา สีงเกตได้ด้วยว่าช้างที่แพ้ออกมาบ่อยครั้งมีหางกุด ซึ่งเกิดจากตอนหมุนตัวเริ่มวิ่งหนีนั้น หางช้างที่ชี้ตรงจะบังเอิญโดนช้างที่ชนะกัดเอา!!

6. ช้างที่ได้ออกมาลองชิมผลไม้สวนหรือพืชผลแปลงเกษตรมักจะติดใจในรสชาติ และจะไปตามเพื่อนในฝูงให้มาชิมบ้าง ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะผลไม้เมืองร้อนนอกป่าย่อมมีรสชาติหวานฉ่ำ เมื่อชิมแล้วก็จะติดรสหวาน ไม่ว่าจะทุเรียน เงาะ ลำใย สัปปะรด แก้วมังกร หรือแม้แต่แปลงกล้วย แปลงข้าวโพด

การเคลื่อนย้ายช้างป่าออกไปปล่อยใหม่ให้ไกลจากจุดที่เขาเคยมาติดรสชาติของพืชสวนพืชไร่จะไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาได้ ถ้าไม่ช่วยให้เขาค่อยๆลดความติดใจในรสชาติเหล่านั้น

ทางแก้ไขที่พัฒนาขึ้นโดยบุคลากรของกรมอุทยานฯ บ้างแล้ว คือนำไปปล่อยในพื้นที่อื่นแล้วนำพืชอาหารที่มีทั้งส่วนผสมจากแปลงเกษตรผสมกับพืชป่าในสัดส่วนที่ค่อยๆเจือจางลงจนเหลือแต่พืชป่าในที่สุด เพื่อให้ช้างค่อยๆเปลี่ยนคืนไปสู่ความชินของอาหารป่าอย่างที่เคยเป็นมาก่อน มิเช่นนั้นเขาจะมุ่งหน้าออกไปหากินในแปลงเกษตรอีกอย่างรวดเร็ว แม้อยู่ไกลไปเป็นร้อยๆกิโลเมตรได้อย่างแม่นยำ

7. การพยายามสร้างแหล่งน้ำแหล่งอาหาร และทำโป่งเทียมในป่าจึงเป็นวิธีที่หนึ่งในการช่วยลดการเสี่ยงที่มนุษย์และช้างป่าจะเผชิญหน้ากัน แต่นั่นหมายถึงการต้องอาศัยแรงเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครจำนวนมากขนแบกอุปกรณ์และสารพัดสิ่งเดินลึกเข้าป่าไปบ่อยๆ มีความสุ่มเสี่ยงตามสภาพงานและฤดูกาล กิจกรรมนี้เริ่มไปหลายที่แล้ว กรมอุทยานฯได้ลุยป่าเข้าไปปลูกพืชอาหารช้างไปเป็นพื้นที่รวมๆแล้วถึง 1,478 ไร่ ปรับปรุงทุ่งหญ้า ไปแล้ว 26,110ไร่ ขุดทำแหล่งน้ำไปแล้ว 670 แห่ง ทำฝายชะลอน้ำ 109 แห่ง และทำโป่งเทียมไปแล้ว 3,308แห่ง

ส่วนวิธีที่สองที่ได้สามารถทำคู่ขนานไปในพื้นที่กันชนคือการใช้รั้วธรรมชาติเช่นปลูกไผ่หนามที่เมื่อโตเต็มที่จะสามารถสกัดช้างไม่ให้ฝ่าออกนอกเขตได้ แต่เนื่องจากไผ่จะใช้เวลาหลายปีกว่าจะโตสูงและแน่นพอจะสกัดช้างได้ จึงควรขึงรั้วลวดหนาม และหากสภาพภูมิประเทศเอื้ออำนวยการควรขุดทำแนวคูกันช้างไปด้วย เพื่อให้ทั้ง3 อย่างช่วยกันและกัน

เท่าที่รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่มา มีการขุดคูกันช้าง ซึ่งด้านที่ช้างมาจากป่าจะเป็นทางลาดลง แต่ฝั่งที่จะมุ่งไปชุมชนจะเป็นคันดินชันที่ช้างจะปีนขึ้นไม่ได้ คูแบบนี้ทำไปแล้วยาว 592 กิโลเมตร ปลูกไผ่หนามเป็นรั้วไปแล้ว 264 กิโลเมตร บางจุดจำเป็นเร่งด่วนต้องใช้รั้วคอนกรีตกึ่งถาวรก็ได้สร้างไปบวกรวมๆจากทั้งประเทศแล้ว 98 กิโลเมตร”

นับว่ามีความก้าวหน้าทีเดียว เพราะสมัยก่อนการจะใช้งบหลวงไปขุดบ่อน้ำในป่าเคยติดขัดด้านการตีความกฏหมายว่าจะเป็นหน้าที่และภารกิจของกรมอุทยานฯได้หรือไม่ หน่วยตรวจสอบจะยอมรับหรือเปล่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน