รายงาน กสทช. ชี้ชัด ค่าบริการโทรคมนาคมไทยยังต่ำกว่าอัตรากำกับ นักวิเคราะห์ชี้ค่าบริการของไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียน ตลอด 5 ปี ราคาต่อนาทีถูกลงต่อเนื่อง ประเมินการควบรวม ทรู ดีแทค ไม่ส่งผลต่อราคา เพราะมีเส้นเพดานกำกับอยู่แล้ว

รายงานอัตราค่าบริการโทรคมนาคม ล่าสุดประจำไตรมาสที่ 3/2564 (กรกฎาคม – กันยายน 2564) เผยแพร่เมื่อ 2 ก.พ.2565 ระบุถึงทิศทางและแนวโน้มของอัตราค่าบริการโทรคมนาคมของประเทศไทย โดยเปิดเผยว่า ในภาพรวมของผู้ประกอบการโทรคมนาไทย สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ อัตราค่าบริการเฉลี่ยในแต่ละประเภทของผู้ให้บริการทุกรายมีอัตราค่าบริการเฉลี่ยไม่เกินอัตราที่กำกับตามประกาศ กสทช. โดยค่าบริการเสียงอยู่ที่ 0.48 บาทต่อนาที บริการ SMS อยู่ที่ 0.67 บาทต่อข้อความ บริการ MMS อยู่ที่ 1.80 บาทต่อข้อความ และบริการ Mobile Internet อยู่ที่ 0.10 บาทต่อ MB และจากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่ามีแนวโน้มค่าบริการลดลงต่อเนื่อง แต่มีการแข่งขันนำเสนอบริการอินเทอร์เน็ต 4G และ 5G มากขึ้น

รายงานดังกล่าวสอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในรายงานแนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรมปี 2562-2564 : ธุรกิจบริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบุว่า ปัจจุบันผู้ให้บริการหลักในระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่มีน้อยราย แต่การแข่งขันค่อนข้างรุนแรง มีการใช้กลยุทธ์ด้านราคา รวมถึงเร่งลงทุนขยายสัญญาณเครือข่าย เพื่อขยายฐานผู้ใช้บริการซึ่งจะช่วยหนุนการเติบโตของรายได้ ทำให้การใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยเฉพาะ สมาร์ทโฟน เพิ่มจำนวนขึ้น

รายงาน Mobility Report ระบุว่าปี 2559 จำนวนการใช้ สมาร์ทโฟน ในไทยมีระดับสูงกว่าจำนวนการใช้โทรศัพท์พื้นฐานและคาดว่าปี 2564 จำนวนสมาร์ทโฟนจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าหรือ 80 ล้านเครื่องจาก 40 ล้านในปี 2558

ทั้งนี้ จำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่และการใช้โมบายอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunications Union: ITU) จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีพัฒนาการด้าน ICT ก้าวหน้ารวดเร็วมากสุดในรอบห้าปี (Most dynamic improvement countries: ข้อมูลปี 2558) ขณะที่ปี 2560 ดัชนีชี้วัดการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Development Index) ของไทยอยู่อันดับที่ 78 จากทั้งหมด 176 ประเทศ ขยับดีขึ้นจากปี 2559

ด้าน “ค่าใช้จ่าย” ผลการศึกษาเปรียบเทียบสัดส่วนค่าใช้จ่ายบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (รวมบริการเสียงและอินเตอร์เน็ต) ต่อรายได้เฉลี่ยต่อเดือนในกลุ่มประเทศอาเซียน พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายดังกล่าวต่ำเป็นอันดับ 5 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์ บรูไน มาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนประมาณ 38% สะท้อนว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนไทยเข้าถึงบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (เสียงและอินเตอร์เน็ต) เป็นผลจากราคาที่อยู่ในระดับต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียนโดยเปรียบเทียบ

แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม กล่าวว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา กสทช.ได้สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท ทั้งเงินจากการประมูลคลื่นความถี่โดยตรงตั้งแต่ 3G, 4G และ 5G รวม 437,962 ล้านบาท และการประมูลทีวีดิจิทัลอีก 50,000 ล้านบาท รวมทั้งเม็ดเงินจากการลงทุนติดตั้งโครงข่ายโทรคมนาคมของผู้ประกอบการ และการใช้จ่ายในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกจำนวนมาก ผู้ประกอบการโทรคมนาคมต้องลงทุนด้านใบอนุญาต ลงทุนด้านเครือข่าย อุปกรณ์ โดยมี กสทช. ควบคุมราคา ทำให้ธุรกิจโทรคมนาคมต้องแบกรับภาระต้นทุน ไม่สามารถปรับเพิ่มราคาได้ เพราะเป็นธุรกิจที่ถูกกำกับดูแล ดังนั้นในข้อเท็จจริงจึงไม่น่าวิตกกังวลในกรณีที่ “ทรู” รวมกับ “ดีแทค” แล้วจะราคาสูงขึ้นนั้น เนื่องจากยังมี กสทช.เป็นกลไกสำคัญในการควบคุมและกำกับดูแล ซึ่งที่ผ่านมา กสทช.ได้ทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดีมาโดยตลอด

สิ่งที่คนไทยควรจะเป็นห่วงมากกว่าการกำกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม ที่มีกฎหมาย กฎระเบียบครบถ้วน ก็คือ การที่กฎหมายในการกำกับดูแลตามไม่ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีผู้ให้บริการ Over the top ที่แทบไม่มีกฎหมายควบคุม ยกตัวอย่างเช่น ส่วนแบ่งตลาดของคนใช้ไลน์ อาจสูงถึง 80% ของตลาด แต่ไม่มีใครพูดถึง หรือ การที่ส่วนแบ่งตลาดกว่า 90% มีการใช้ facebook เป็นต้น ซึ่งหากจะควบคุมก็ทำได้ยาก เพราะบริษัทเหล่านี้อยู่ในต่างประเทศ และไม่ต้องจ่ายภาษีให้กับประเทศไทย หากจะแก้กฎหมาย ก็ต้องใช้เวลา เนื่องจากกระบวนการในการแก้ไขมีหลายขั้นตอน ปัจจุบันกฎหมายที่ กสทช.เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 เป็นกฎหมายที่ใช้มานานมาก ส่วนใหญ่จึงบังคับใช้กับผู้ประกอบการในประเทศเป็นหลัก

อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับต่างประเทศ จะพบว่า ประเทศไทยมีการลงทุนด้าน 5G นำหน้าประเทศส่วนใหญ่ในโลก โดยอยู่ใน TOP 10 นั่นหมายถึง ผู้ให้บริการต้องลงทุนมหาศาลภายใต้การกำกับดูแลราคา โดยในภาพรวมของผู้ประกอบการโทรคมนาคม สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ อัตราค่าบริการเฉลี่ย ในแต่ละประเภทของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายมีอัตราค่าบริการเฉลี่ยไม่เกินอัตราที่กำกับตาม ประกาศ กสทช.

นักวิจัยของ Top Dollar ได้วิจัยผู้ใช้บริการสมาร์ทโฟนประมาณ 3.8 พันล้านคนทั่วโลก ซึ่งเท่ากับเกือบร้อยละ 50 ของประชากรโลก รายงานค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศไทย คือ ประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซียมีค่าบริการต่อข้อมูลมือถือ จำนวน 10GB มีราคาต่ำกว่า 0.21 เหรียญสหรัฐฯต่อความเร็วในการดาวน์โหลด 1Mbps จำนวน 0.13 เหรียญสหรัฐฯ หรือโดยประมาณ 6.82 บาท หากเทียบกับประเทศต่าง ๆ ในโลก จะพบว่า ประเทศไทยมีค่าบริการถูกที่สุด ติดอันดับ TOP 10 ของโลก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน