“ชาวบ้านรักษาป่า ฟื้นฟูป่ามา วันดีคืนดีรัฐไปประกาศพื้นที่ป่าชุมชนของเขาให้เป็นอุทยานแห่งชาติ แล้วก็ห้ามชาวบ้านเข้าไป อย่าลืมว่ารัฐไปทีหลังทั้งนั้น หมู่บ้านมันเกิดขึ้นก่อนรัฐด้วยซ้ำ”

นโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลทหาร ยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องกับประชาชน โดยเฉพาะคนยากจน ที่อาศัยหาอยู่หากินด้วยการพึงพาพื้นที่ป่า ชาวบ้านบางรายต้องกลายเป็นคนไร้ที่ดินทำกิน ถูกขับไล่ออกจากถิ่นเกิด ที่หนักไปกว่านั้นบางคนยังถูกแจ้งความดำเนินคดี มีคดีความติดตัว

ปัญหาที่เกิดขึ้นนอกจากไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว นับวันสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายขึ้น ความขัดแย้งระหว่างรัฐและชาวบ้านขยายความไม่ไว้วางใจต่อกันเพิ่มมากขึ้น

ข่าวสดมีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) คณะมนุษยศาสาตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นักวิชาการคลุกคลี และช่วยเหลือปัญหาที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการพัฒนาจากรัฐ และทุน เพื่อหาทางออกว่าในสถานการณ์เช่นนี้ทางรอดของชาวบ้านคืออะไร และรัฐต้องแก้ไขปัญหาเร่งด่วนนี้อย่างไร

นโยบายการทวงคืนผืนป่าส่งผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างไรบ้าง

ดร.ไชยณรงค์ : มี 2 ส่วนสำคัญที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว คือที่ดินที่ทำกินของชาวบ้าน และ การถูกดำเนินคดี คนจนจำนวนมากต้องติดคุก ทำให้มีผลกระทบทางสังคมตามมาคือ กลายเป็นคนไร้ที่ดินทำกิน ไร้บ้าน เมื่อที่ดินผืนสุดท้ายถูกรัฐยึดไป และการไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ที่อยู่มาก่อน หรือเรียกว่าพื้นที่ซ้อนทับกันระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานรัฐ

ควรจะจัดการแก้ปัญหาให้คนที่อยู่มาก่อนอย่างไร

ดร.ไชยณรงค์ : ต้องแยกว่าพื้นที่ตรงไหนที่เป็นป่าสมบูรณ์กับพื้นที่เสื่อมโทรมที่ไม่ใช่ป่า หากว่าส่วนไหนที่เป็นป่าจริงๆ ควรอนุรักษ์ไว้โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมด้วย แต่หากยังมีวิธีคิดว่าการอนุรักษ์คนกับธรรมชาติต้องแยกออกจากกัน ถ้าคิดว่าการอนุรักษ์ต้องเอาคนออก แท้จริงแล้วคนเหล่านี้อยู่มาก่อนด้วยซ้ำแต่รัฐก็ประกาศทับลงไป ชาวบ้านที่ถูกทวงคืนผืนป่าเขาไม่ใช่อาชญากร คนเหล่านี้ขอแค่มีที่ดินทำกิน พออยู่รอดได้เลี้ยงตัวเองได้ ส่งลูกหลานเรียน บั้นปลายชีวิตไม่ต้องมารับจ้างทำงาน

พื้นที่ไหนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

ดร.ไชยณรงค์ : ภาคอีสานกับภาคใต้จะได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่ภาคอีสานจะหนักกว่า จากนโยบายการทวงคืนผืนป่าที่รัฐบอกว่าจะไม่ให้กระทบต่อคนจน ประกอบกับนิยามของคนจนที่มันคลุมเคลือ คนที่ได้รับผลกระทบมักเป็นคนจน ขณะที่คนบุกรุกป่าผืนใหญ่เป็นพวกนายทุน รัฐไม่ได้เข้าไปจัดการยึดพื้นที่ของคนเหล่านั้น ทำให้เกิดปัญหาตามมาคือการเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะชาวบ้านจะรู้สึกว่ารัฐเลือกปฏิบัติ

นโยบายนี้ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาราคายางพาราด้วยหรือไม่

ดร.ไชยณรงค์ : นโยบายการทวงคืนผืนป่ามันควบคู่มากับวิฤตราคายางพารา สำหรับเรื่องการส่งเสริมปลูกยางพาราเป็นนโยบายของรัฐบาลมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว อีกทั้งหน่วยงานทางด้านความมั่นคงก็มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ปลูกในพื้นที่ภาคอีสาน เพราะต้องการให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังให้ปลูกยางพาราในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม แต่มาวันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ปลูกยางพาราก็มาโค่นยางพาราของชาวบ้าน ถือว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาเหมือนหักด้ามพร้าด้วยเข่า นโยบายการทวงคืนผืนป่ามันก็คือการลดสต็อกยางพารา

มีวิธีอื่นในการแก้ปัญหาโดยไม่จำเป็นต้องโค่นยางพาราอย่างไรบ้าง

ดร.ไชยณรงค์ : การเปิดให้ชาวบ้านเช่าที่ดินเสื่อมโทรมและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า เท่าที่ผ่านมาเกิดคำถามว่าทำไมรัฐถึงให้เอกชนเช่าที่ดินเสื่อมโทรมเช่าที่ดินของรัฐได้ แต่ไม่ให้ชาวบ้านเช่า หากพูดถึงความยุติธรรมในการใช้ทรัพยากร ด้านหนึ่งคือการแย่งยึดที่ดินมาจากคนจน แต่ในขณะเดียวกันกลับเปิดโอกาสให้เอกชนได้ใช้พื้นที่ป่าที่สมบูรณ์รวมไปถึงป่าชุมชน มันสะท้อนให้เห็นว่านโยบายของรัฐมันเลือกปฏิบัติ คนจนเข้าถึงทรัพยากรเพื่อดำลงชีพของตัวเองไม่ได้

การบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มนายทุนที่ทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ แต่กลับทำให้ชาวบ้านไร้ที่ทำดิน ปัญหานี้ควรแก้ไข้อย่างไรให้ตรงจุด

ดร.ไชยณรงค์ : ต้องจำกัดการถือครองที่ดิน ปัญหาคือนายทุนถือครองที่ดินเยอะ แต่คนจำนวนมากไม่มีที่ดินทำกิน นอกจากนี้ต้องสนใจเกษตรกรรายย่อยด้วย ไม่ใช่สนใจแต่กับนายทุนขนาดใหญ่ เพราะประชารัฐก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าคนที่จะได้ประโยชน์คือเกษตรกรขนาดใหญ่ รวมทั้งต้องเข้าใจด้วยว่าชาวบ้านเกษตรกรรายย่อยเขาทำกินเพื่อมีชีวิตรอด เขาไม่ได้คิดสะสมทุนขนาดใหญ่ครั้งละมากๆ

การอนุรักษ์ผืนป่าโดยเจ้าหน้าที่ห้ามชาวบ้านเข้าไปหาของกินนั้น ถือเป็นการควบคุมการเข้าถึงทรัพยากรที่เข้มงวดเกินไปหรือไม่

ดร.ไชยณรงค์ : วิธีการในการจัดการทรัพยากรป่าของรัฐโดยการกีดกันชาวบ้านไม่ให้เข้าไปเก็บเห็ด หน่อไม้ หรือพืชผัก นับว่าเป็นการควบคุมการเข้าถึงทรัพยากรที่เข้มงวดเกินไป ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้ไม่ใช้เนื้อไม้ ไม่ใช่การโค่นต้นไม้ ทำให้มันไม่มีเหตุผลใดที่ควรจะไปห้าม

“การใช้วิธีแบบนี้มันมีความคิดว่า ป่าสมบูรณ์แต่คนยากจน และมันจะกลายเป็นว่าคนไม่เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ เพราะอนุรักษ์ไปตัวเองก็ไม่สามารถเขาถึงทรัพยากรได้ อันนี้เป็นผลเสียมากกว่า ถ้าชาวบ้านใช้ทรัพยากรตรงนั้น เขาก็จะรักษาทรัพยากรของเขาแล้วก็ส่งเสริมให้ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และไม่ทำลายล้างซึ่งมันสามารถทำได้”

การอนุรักษณ์ผืนป่าใหญ่ทางชุมชนสามารถอนุรักษ์ได้หรือไม่และต้องทำอย่างไรบ้าง

ดร.ไชยณรงค์ : อนุรักษ์ได้แน่นอน เพราะป่าชุมชนจำนวนมากอยู่ในป่าอนุรักษ์ ฉะนั้นมันมีลักษณะที่ซ้อนทับกันอย่างเช่นที่ แม่ฮ่องสอน ป่าชุมชนที่ชาวบ้านรักษา หลังจากเคยถูกทำลาย พอรัฐต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าก็ไปประกาศป่าชุมชนของชาวบ้านมาเป็นป่าอนุรักษ์ แค่เปลี่ยนสถานะเท่านั้นเอง ต่อมาก็กีดกันชาวบ้านออกจากพื้นที่

เป็นไปได้ไหมที่จะให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ต้องทำอย่างไรบ้าง

ดร.ไชยณรงค์ : สามารถใช้วิธีการจัดการร่วมได้ เช่นหากเป็นป่าอนุรักษ์แล้วแต่ยังมีสถานะเป็นป่าชุมชน ดังนั้นควรให้ชุมชนมีสิทธิ์ในการจัดการและเข้าถึงทรัพยากรในป่าด้วย ซึ่งป่าชุมชนสามารถเป็นป่าอนุรักษ์ได้ โดยเป็นป่าที่ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้ อันนั้นจึงเป็นการใช้ทรัพยากรที่ถูกต้อง ไม่ใช่แยกคนออกจากทรัพยากร

การแบ่งเขตว่าบริเวณไหนควรอนุญาตหรือหวงห้าม หากจะจัดการในลักษณะแบบนี้ได้หรือไม่

ดร.ไชยณรงค์ : สามารถโซนนิ่งได้ว่าบริเวณนี้สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ เพราะทางชุมชนจะได้ช่วยดูแลรักษาด้วย หากแยกส่วนกีดกันมันจะกลายเป็น 2 อย่างคือ ชาวบ้านเป็นศัตรูกับรัฐ และรัฐก่ออาชกรรมกับชาวบ้าน โดยการใช้กฎหมายต่างๆมาจัดการ มีหลายคนที่ถูกดำเนินการคดีหรือถูกรัฐกระทำเหมือนกับเป็นอาชญากร

เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ แนวทางแก้ไขปัญหาไม่ได้รับการสานต่อ ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาไม่มีความต่อเนื่องอย่างไรบ้าง

ดร.ไชยณรงค์ : นโยบายของรัฐมันต้องเป็นนโยบายที่สืบสานต่อเช่น รัฐบาลตั้งแต่ปี 2530 กว่าๆ บอกว่า อีสานเป็นพื้นที่ปลูกยางพารา เพื่อเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เวลาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจก็มองว่ายางพาราในอีสานจะเป็นพื้นรองรับและกู้วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ พอมาปัจจุบันกลับมองว่ายางพาราเป็นปัญหาของประเทศ ต้องโค่นทิ้ง มันต้องไปดูอย่างอื่นมากกว่า เช่น ใครเป็นคนควบคุมราคายางพารา หรือตลาดยางพารา เป็นต้น หรือก็ไม่ต้องส่งเสริมตั้งแต่แรก

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกับการจัดการป่าได้มากกว่าหรือไม่

ดร.ไชยณรงค์ : ไม่ถึงกันที่มีส่วนร่วมได้ แต่อาจจะมีช่องทางที่สู้ได้ ที่แน่ๆเขาจะไม่กำหนดนโยบายที่กระทบต่อคนจน การทวงคืนผืนป่าครั้งแรกเกิดขึ้นในยุค รสช. รัฐบาลนั้นก็เกิดโครงการจัดสรรที่ดินทำกินเพื่อผู้ยากไร้หรือ เพิ่มผู้ยากไร้ ( คจก.) ขึ้นมา เป็นการอพยพคนอีสานจำนวนมาก ทุกวันนี้เขาก็ยังตั้งตัวไม่ได้เลย

สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดในตอนนี้และในอนาคตคืออะไร

ดร.ไชยณรงค์ : สิ่งสำคัญคือบาดแผลในใจของชาวบ้าน เรื่องของการเข้าถึงทรัพยากรมันเป็นเรื่องของความยุติธรรมทางสังคม เมื่อรัฐจัดการแบบนี้ ความแตกแยกระหว่างรัฐกับชาวบ้านมันจะฝังลึก และเป็นแผลไปอีกนาน ซึ่งมันไม่ได้เป็นผลดีต่อรัฐ การที่ประชาชนรู้สึกว่ามามองเขาราวกับว่าเป็นอาชญากรและถูกกระทำ เสมือนกับเป็นศัตรูของชาติ

ต้องใช้วิธีการจัดการอย่างไรให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน

ดร.ไชยณรงค์ : มีตัวอย่างคือที่ สาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นลักษณะพื้นที่ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ แล้วก็มีชาวบ้านที่ประกาศให้เป็นป่าชุมชน ประกอบกับทางอุทยานและชาวบ้านก็ไม่ได้สู้กัน โดยชุมชนออกกฎเกณฑ์ในการเข้าถึงทรัพยากรบริเวณนั้นให้ยั่งยืนไม่ทำลายล้าง จะเห็นว่ามันสามารถอยู่ด้วยกันได้

อย่างกรณีของกระเหรี่ยงที่ทุ่งใหญ่นเรศวร พวกเขาก็รักษาป่ามานาน รักษาป่ามาก่อนมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าด้วยซ้ำ วิถีชีวิตของเขาก็เป็นวิธีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ มันต้องเป็นการพัฒนาแบบคนมีส่วนร่วม ถึงเรียกว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ตอนนี้มันไม่ยั่งยืนแล้วเพราะมันมีความขัดแย้ง

สุพันนิกา พรหมมา / รายงาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน