ศักยภาพและความสำคัญของจังหวัดขอนแก่นสะท้อนผ่านการได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 3 จังหวัดนอกกรุงเทพมหานครในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคด้านการคลังจาก 21 เขตเศรษฐกิจในระหว่างวันที่ 21-23 มิ.ย. 2565 สร้างโอกาสการกระจายความเจริญจากเมืองหลวงสู่ภูมิภาค ด้วยความโดดเด่นของขอนแก่นด้านความเชื่อมโยง ต้นแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ศูนย์กลางการเชื่อมโยงภาคอีสาน และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.กระทรวงการต่างประเทศจัดงานเสวนาเพื่อระดมสมองและแลกเปลี่ยนความเห็นในหัวข้อ เมืองอัจฉริยะและการเชื่อมโยงเพื่อระดมสมองและแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและความประชาสังคม สอดคล้องกับแนวคิดหลักการเป็นเจ้าภาพเอเปค เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล

เวทีระดมสมอง

นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวถึงภาพรวมของเอเปคว่าเป็นกรอบความร่วมมือกำหนดทิศทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ไม่ใช่การเจรจาบรรลุข้อตกลง ซึ่งตามวิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 เอเปคไม่ใช่การพูดถึงธุริกจข้ามชาติ แต่คือการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น การหาแหล่งเงินทุนให้คนตัวเล็กตัวน้อยมากขึ้นด้วยศักยภาพขอนแก่นที่เป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ศูนย์กลางความเชื่อมโยง สอดคล้องกับประเด็นที่หารือในเอเปคไม่ว่าเศรษฐกิจบีซีจีใช้นวัตกรรมตอบโจทย์ธุรกิจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสนับสนุน MSMEs หรือกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุน การส่งเสริมอี-คอมเมิร์ซ การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน การกระจายรายได้สู่ชุมชน แหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม รวมถึงการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ

นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

นักวิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมนำเสนอข้อมูลและแสดงความเห็น ด้านผศ. สิริมนพร ทิพสิงห์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยนำเสนอผลการวิจัยที่ทำร่วมกับนักศึกษาซึ่งวิจัยเพื่อแผนงานสำหรับเมืองเพื่อมุ่งผลประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว พบว่าเมืองอัจฉริยะดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพจากยุโรปและจีน มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความพร้อมในการช่วยส่งเสริมการสร้างเมืองอัจฉริยะผ่านการพัฒนาพลเมืองอัจฉริยะ นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น สะท้อนการเป็นศูนย์กลางของขอนแก่นในด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ การศึกษาของภูมิภาค ตลอดจนการแพทย์และสาธารณสุข และกำลังผลักดันให้เป็นเมืองแห่งการประชุมของอีสาน

ผศ. ชวิศ เกตุแก้ว รองคณบดีฝ่ายกลยุทธ์ วิจัยและการต่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ นำเสนอโมเดลธุรกิจเพื่อช่วยชุมชน จากผลการวิจัยที่ผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศษเหลือของมะม่วงและลดขยะจากการเกษตร อาทิ การทำเนยจากเมล็ดมะม่วง นายสง่า สัตนันท์ ผู้จัดการโครงการ สถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง เน้นความเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจในภูมิภาคกับแผนการพัฒนาเมืองขอนแก่น และนายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ เลขาธิการมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า เน้นความสำคัญของภาคประชาสังคมในการสร้างการมีส่วนร่วม สร้างพลเมืองที่ตื่นรู้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง

นายเชิดชายสรุปว่า แนวคิดการพัฒนาเมืองตามวิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 ของเอเปคจะเกิดได้ต้องมีคน รัฐที่ฉลาด การทำธุรกิจที่ฉลาดและมีความรับผิดชอบในทุกการกระทำ รวมถึงความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมโยงกับภูมิภาค และการสร้างพื้นที่ให้พูดคุยกัน

นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นและนายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศร่วมเปิดนิทรรศการสร้างความตระหนักรู้และประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทยรวมทั้งแสดงศักยภาพทางเศรษฐกิจของของจังหวัดขอนแก่น และแสดงผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่น ซึ่งจัดแสดงระหว่างวันที่ 22-26 มิถุนายน 2565 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ขอนแก่น

นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะนำสินค้าท้องถิ่นเข้าไปเกาะเกี่ยวในระดับโลก ซึ่งเอเปคมีความสำคัญในแง่จำนวนคนที่มีประชาชนร้อยละ 40 ของประชากรโลก และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยมีมูลค่าจีดีพีคิดเป็นร้อยละ 62 ของทั้งโลก ชาวขอนแก่นถือเป็นเมืองที่แสวงหาโอกาสสู่การเป็นเมืองระดับโลก เมื่อนึกถึงประเทศไทยแล้วต้องนึกถึงขอนแก่นด้วย จึงถือเป็นโอกาสของชาวขอนแก่น จังหวัดใกล้เคียงและภาคอีสานด้วย ซึ่งชาวขอนแก่นรับรู้ได้และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ขอนแก่นเมืองต้นแบบความเชื่อมโยงและระบบราง ที่มีระบบรถไฟรางคู่ ระบบรถไฟความเร็วสูงในอนาคตและได้วางระบบการขนส่งทางอากาศที่สมบูรณ์แบบที่สุดในจังหวัดขอนแก่น ดังนั้นโอกาสเหล่านี้ทำให้ขอนแก่นเป็นจุดเชื่อมโยงในอนาคต

 

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า การผลักดันโครงการอุทยานธรณีหรือจีโอปาร์กที่อำเภอภูเวียงและเวียงเก่าสู่อุทยานธรณีระดับโลกที่องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโกรับรอง เป็นไปตามกรอบเวลาที่ได้วางแผนไว้ ซึ่งได้นำเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังไปที่อำเภอเวียงเก่า ถือเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวสู่อีสาน นำไปสู่ชนบทเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ

ภายในงานยังมีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ผ้าไหมมัดหมี่ที่ก้าวไปสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บรรจุในหีบห่อบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำจากต้นกกในท้องถิ่น ประดับด้วยดอกไม้ที่ทำจากดินเก่าแก่ 150 ล้านปีในอำเภอภูเวียง ขณะนี้กำลังศึกษาเพื่อทำการวิจัยสู่คาร์บอนฟุตพริ้นท์ จะนำไปสู่การขยับราคาจากผ้าพื้นเมืองราคาธรรมดาสู่ราคาพรีเมียม นอกจากนี้ยังมี จิ้งหรีดโปรตีนอนาคต ข้าวทับทิมชุมแพ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบ้านแฮด และเนื้อหมูไบโอไดนามิก (เนื้อหมูออแกนิก)

ผ้าไหมมัดหมี่

โปรแกรมสุดท้าย อีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญ คณะเดินทางเยี่ยมชมโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบรางรถไฟรางเบาที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น

ดร.ศุภฤกษ์ ชามงคลประดิษฐ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์กล่าวว่า ระบบขนส่งราง จุดเน้นสำคัญของมหาวิทยาลัยมี 4 องค์ประกอบ ได้แก่ การพัฒนากำลังคน อาจารย์และบุคลากร การพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับระบบราง งานวิจัยและนวัตกรรม และการช่วยเหลือชุมชนและสังคม โดยการเป็นส่วนหนึ่งของภาคอุตสาหกรรม

ตู้รถไฟฟ้า

โครงการทดสอบหมอนรถไฟ

โครงการงานวิจัยรถไฟฟ้าแอลอาร์ทีหรือรางเบาต้นแบบที่ได้งบประมาณ 100 ล้านบาทปี 2563-64 ที่ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศเพื่อต่อยอดไปยังภาคอุตสาหกรรม สิ่งที่เกิดจากงานวิจัย อาทิ หมอนคอนกรีตรองรางรถไฟ ตู้รถไฟฟ้า คาดว่าจะสำเร็จในปี 2566 การร่วมในคณะทำงานในโครงการร้อยแก่นสารสินธุ์ ที่ริเริ่มโดยผู้ว่าฯ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ บัณฑิตจบใหม่ไม่ต้องเคลื่อนย้ายไปทำงานที่ภาคตะวันออกหรือปริมณฑล ตลอดจนเป้าหมายสู่การเป็นศูนย์การทดสอบหมอนคอนกรีตแห่งที่สองของประเทศไทย ต่อจากที่คลอง 5 จังหวัดปทุมธานี ซึ่งจะนำรายได้เข้าสู่มหาวิทยาลัยและจังหวัด และจะนำไปสู่การหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางในที่สุด

…………

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน