น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปลัดมท.นำประชุมขับเคลื่อนงานจิตอาสามหาดไทย เน้นย้ำ “คนมหาดไทยต้องมี DNA ความเป็นจิตอาสาในหัวใจ”

วันที่ 12 ก.ค.65 ที่ห้องประชุมราชบพิธ อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการและขับเคลื่อนงานจิตอาสา กระทรวงมหาดไทย (ศอข.จอส.มท.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการและขับเคลื่อนงานจิตอาสากระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นายชยาวุธ จันทร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการศูนย์อำนวยการและขับเคลื่อนงานจิตอาสา กระทรวงมหาดไทย ผู้แทนส่วนราชการระดับกรม หัวหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราโชบายในการส่งเสริมให้ประชาชนมีความสมัครสมานสามัคคี มีความสุข และประเทศชาติมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน โดยพระราชทานโครงการจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ซึ่งในระยะเริ่มแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชปณิธานในการบำเพ็ญประโยชน์พื้นที่ชุมชนโดยรอบพระราชวังดุสิต เป็นการทำความ ดี ด้วยหัวใจ ถวายเป็น พระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยการร่วมกันดูแลและพัฒนารักษาพื้นที่จากชุมชนเล็ก ๆ รอบพระราชวังดุสิตขยายสู่พื้นที่โดยรวมของประเทศ ในการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป ซึ่งจากแนวพระราโชบายและพระราชปณิธานทำให้เราเห็นได้ว่า สิ่งหนึ่งซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นที่ต้องแสดงออกผ่านการขับเคลื่อนงานจิตอาสา นั่นคือ “ใจ” เพราะการทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยหัวใจ จะนำมาซึ่งความสำเร็จที่จะบังเกิดผลดีกับพี่น้องประชาชนโดยส่วนรวม ประเทศชาติ รวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่และเคารพรักยิ่งเป็นของพวกเราทุกคน โดย “ผู้นำขององค์กรและทีมงานทุกคน” ต้องดึงเอาแรงปรารถนา (Passion) ที่อยากจะ Change for Good ทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น ทั้งในฐานะที่เราเป็นข้าราชการและคนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในฐานะที่เราเป็นคนไทย มาช่วยกันทบทวน มาช่วยกันหารือว่าการดำเนินงานที่ผ่านมา มีความสำเร็จ หรือมีจุดอ่อน จุดแข็ง และมีสิ่งที่พวกเราจำเป็นต้องช่วยกันในการที่จะพัฒนาให้เกิดการขับเคลื่อนสิ่งที่ดีในเรื่องของการสร้างคุณประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน กับส่วนรวม ในลักษณะของการเป็น “จิตอาสา” ได้อย่างไร นอกเหนือจากหน้าที่ราชการที่ต้องทำให้ดีเพื่อส่วนรวมอยู่แล้ว เพื่อยังผลทำให้สังคมไทย เป็นสังคมที่ผู้คนมีจิตใจที่ดีงาม มีความเสียสละ และมีความสุขในการทำความดีด้วยหัวใจ โดยไม่ได้หวังผลตอบแทนในเรื่องของอามิสสินจ้าง หรือตำแหน่งหน้าที่การงาน สร้าง “สังคมแห่งการให้” คนที่แข็งแรงช่วยเหลือคนที่อ่อนแอ คนที่มีโอกาสดีกว่าของชีวิตช่วยคนที่ด้อยโอกาส คนที่มีให้คนที่ขาดแคลน คนที่สุขสบายให้คนที่ทุกข์ยาก

“หลักการที่สำคัญของจิตอาสา คือ การทำความ ดี ด้วยหัวใจ อันส่งผลต่อส่วนรวมโดยตรง เช่น เราไปทำความสะอาด เราช่วยกันเก็บขยะมูลฝอย เราช่วยกันปลูกต้นไม้ หรือช่วยกันสร้างศาลา เพื่อให้คนที่จะต้องนั่งรอรถโดยสารได้มีที่บังแดด หรือคนพาญาติไปโรงพยาบาลได้มีที่นั่งคอย รวมไปถึงการมีจิตอาสาที่ช่วยกันรณรงค์ส่งเสริมให้คนไป บริจาคชุดลูกเสือ-เนตรนารี อุปกรณ์การศึกษาให้เด็กที่ขาดแคลนยากไร้ เพื่อให้พวกเขาได้มีเสื้อผ้า มีเครื่องแบบ ได้มีทุนการศึกษา อุปกรณ์การศึกษา ทำให้เกิดประโยชน์กับเด็กกับครอบครัวเด็กโดยตรงและส่งผลต่อประโยชน์ส่วนรวม คือ ประเทศชาติ ก็จะมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ อันนี้เป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์กับส่วนรวม บรรเทาความทุกข์ยากให้คนที่เดือดร้อน อันส่งผลต่อประเทศชาติและส่วนรวม เพราะฉะนั้น งานของจิตอาสาจึงมีความหมายที่กว้างขวางมาก “และที่สำคัญที่สุด ต้องช่วยกันขับเคลื่อนขยายผลทำให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจถึงแก่นแท้ของงานจิตอาสาจนกลายเป็น DNA ในตัวทุกคน ในตัวเพื่อนร่วมงาน และขยายผลไปยังพี่น้องประชาชน เป็นสังคมแห่งความเสียสละ ทันทีที่เห็นคนอื่นเดือดร้อน ก็ยื่นมือลงไปช่วยเหลือโดยไม่นิ่งดูดาย โดยจิตอาสา ถึงไม่ต้องใส่เสื้อผูกผ้าพันคอพระราชทาน ก็เป็นจิตอาสาได้ เพราะ DNA ของจิตอาสา มันต้องเป็นสิ่งที่อยู่ในสายโลหิตอยู่ในจิตใจตลอด 24 ชั่วโมง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายชยาวุธ จันทร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน กล่าวว่า การดำเนินงานจิตอาสาของส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย จำเป็นต้องมีการขยายผลไปยังภาคีเครือข่ายของหน่วยงาน และส่งเสริมให้กลไกภาคประชาชนที่เป็นประชาชนจิตอาสาได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีเครื่องแบบจิตอาสาพระราชทานก็สามารถเป็นจิตอาสาได้

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอให้หน่วยงานได้นำแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาจิตอาสาของส่วนราชการและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย คือ การขับเคลื่อนด้วยการนำหลักการตามศาสตร์พระราชา ด้วยกลไก 3 5 7 อันได้แก่ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์แบบบูรณาการ การประเมินผล ติดตาม กำกับ การจัดการความรู้ การสื่อสารสังคม โดยมุ่งเป้าสานพลัง 7 ภาคี ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคศาสนา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ทั้งนี้ การขับเคลื่อนงานจิตอาสา ต้องโดยเริ่มจากการพัฒนาคน เริ่มจากการ “ให้” เมื่อให้แล้วคนจะศรัทธา คนจะเข้าใจ และจิตวิญญาณแห่งการเป็นจิตอาสา จะได้รับการถ่ายทอดส่งต่อจนเกิดความยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ทุกหน่วยงานได้ร่วมกันวางแผนการขับเคลื่อนงานจิตอาสา โดยเริ่มตั้งแต่โครงสร้างของแต่ละหน่วยงาน และแนวทางการส่งเสริมการขับเคลื่อนงานจิตอาสาไปยังภาคีเครือข่ายระดับต่าง ๆ และได้ร่วมกันขับเคลื่อน ร่วมกันปฏิบัติในฐานะ “ผู้นำต้องทำก่อน” เพื่อให้เพื่อนร่วมงานรวมถึงพี่น้องประชาชน เด็ก เยาวชน ลูก ๆ หลาน ๆ ไดเห็นเห็นเป็นตัวอย่างและศรัทธาในการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน แล้วปฏิบัติตามจนกลายเป็น DNA แห่งจิตอาสา ทั้งของคนในหน่วยงานและภาคีเครือข่าย พี่น้องประชาชนทุกคน พร้อมทั้งบูรณาการแผนงานและยุทธศาสตร์ ติดตามประเมินผล จัดการความรู้ และสื่อสารกับสังคมในหลากหลายรูปแบบ เช่น พื้นที่ที่ทำแล้วเกิดผลดีอย่างยั่งยืน คลองสะอาด ถนนสะอาด เป็นแหล่งอาหารตลอดเวลา โดยไม่ต้องระดมผู้คนไปบริหารจัดการ แต่ส่งเสริมให้เกิดจิตอาสาที่ดูแลโดยคนในชุมชน หรือพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ของการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่ายของเราและชาวบ้าน เช่น พื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา เพื่อทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการบำเพ็ญประโยชน์ สังคมแห่งการทำความ ดี ด้วยหัวใจ จนหลอมรวมกลายเป็นจิตวิญญาณแห่งความเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อทำให้ส่วนรวมมีความเป็นปกติสุขและมีความดีงามเกิดขึ้น ทั้งกับผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน