จากกรณีเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ควบคุมตัวนายเปรมชัย กรรณสูต พร้อม คณะ หลังจากร่วมกับพวกรวม 4 คน เข้าไปท่องเที่ยวในเส้นทางสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก-หน่วยพิทักษ์ป่าทิคอง-หน่วยพิทักษ์ป่ามหาราช โปรแกรม 2 วัน 1 คืน ใช้เส้นทางที่เปิดให้ท่องเที่ยวชื่อ ทินวย-ทิคอง-มหาราช ระยะทาง 30 กิโลเมตร เพื่อล่าสัตว์ โดยมีของกลางเป็นซากสัตว์และปืนจำนวนมาก

ย้อนรอยเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ทหารหมายเลข ทบ.6102 เกิดอุบัติเหตุตก เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2516 บริเวณ อ.บางเลน จ.นครปฐม โดยมีคณะทหาร ตำรวจ และดาราหญิงชื่อ เมตตา รุ่งรัตน์ โดยสารไปด้วย ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6 คน นอกจากนี้ในซากเฮลิคอปเตอร์ยังพบซากสัตว์เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นซากกระทิง ที่ทางผู้ที่ใช้ล่ามาจากทุ่งใหญ่นเรศวรซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวน สร้างกระแสไม่พอใจในหมู่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก

จากกรณีที่เกิดขึ้น ผู้สื่อข่าวที่ได้เปิดโปงขบวนการดังกล่าว โดยมีกลุ่มอนุรักษ์ 4 สถาบัน พร้อมทั้งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์เปิดโปง โดยมีหลักฐานทั้งบุคคลและภาพถ่ายยืนยันหนักแน่น ทำให้ประชาชนที่ได้รับทราบข้อมูลต่างไม่พอใจ อีกทั้งรัฐบาลจอมพลถนอม จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร กลับแก้ต่างว่า ทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ไปราชการลับบริเวณตะเข็บชายแดนกาญจนบุรี ในปัญหาความปลอดภัยระหว่างที่นายพลเนวินแห่งพม่าเดินทางมาเยือนไทย และชี้แจงว่ารูปถ่ายที่ทหาร ตำรวจเหล่านี้ยืนล้อมซากสัตว์ก็เป็นภาพเก่าและเป็นการยืนถ่ายโชว์โดยที่ไม่รู้ว่าใครยิง

จากกระแสสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง รัฐบาลจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน 9 คน โดย 6 ใน 9 เป็นนายทหารและตำรวจ มีนายกมล วรรณประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ซึ่งผลปรากฎว่า กรรมการเชื่อว่าการนำเฮลิคอปเตอร์ไปใช้ครั้งนี้เป็นไปตามคำสั่งของผู้บัญชาการทหารบกเพื่อปฏิบัติราชการลับ โดยถือเอาป่าทุ่งใหญ่เป็นฐานปฏิบัติการ แต่ภารกิจลับไม่ได้อยู่ที่ทุ่งใหญ่ แต่อยู่ห่างออกไปทางชายแดนที่ติดต่อกับพม่า อีกทั้งเชื่อว่ามีบุคคลในคณะที่พักอยู่ในแคมป์ทุ่งใหญ่ได้ล่าสัตว์และมีซากสัตว์ป่าอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายจริง

หลังจากนั้นปลายเดือนพฤษภาคมและต้นเดือนมิถุนายน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ออกหนังสือชื่อ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ออกเผยแพร่ ปรากฎว่ามีผู้สนใจซื้อจน 5,000 เล่มหมดภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ผลสะเทือนจากเรื่องนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ ประยูร จรรยาวงศ์ หวนกลับมาวาดรูปการ์ตูนการเมืองอีกครั้ง หลังจากหยุดไปเกือบ 2 ปี และจากข้อความในหนังสือเล่มนี้ที่เขียนว่า “ด้วยสถานการณ์ในทุ่งใหญ่ยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ จึงเสนอต่ออายุการทำงานของกระทิงจ่าฝูงเป็นเวลาอีก 1 ปีกระทิง” จากสภารักษาความปลอดภัยแห่งชาติกระทิง ซึ่งเป็นการล้อเลียนจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดเกษียณอายุเมื่อต้นปี 2516

จากเหตุการณ์นี้ทำให้กลุ่มผู้นำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ตลอดจนอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้สนใจ ร่วมก่อตั้ง “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” ขึ้น นำทีมโดยนายธีรยุทธ บุญมี โดยแบ่งระดับของสมาชิกกลุ่มไว้เป็นสองระดับ ระดับที่ 1 เรียกว่า ผู้ที่เห็นด้วยกับการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งขั้นต้นมีอยู่ 100 คน ระดับที่ 2 เป็นกลุ่มปฏิบัติการ ซึ่งมีตัวเขาเองเป็นผู้ประสานงาน และในวันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 2516 กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญได้นัดสื่อมวลชนเพื่อแถลงข่าวเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การดำเนินงานของกลุ่ม ว่าต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุดด้วยสันติวิธี ให้การศึกษาทางการเมืองเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชน และเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความสำนึกและหวงแหนในสิทธิเสรีภาพของตน โดยจะใช้เวลาติดต่อกันสองเดือนในการรณรงค์ และในระยะแรกจะแจกหนังสือและใบปลิวตามย่านชุมชนต่างๆตลอดเวลาสองวัน

กระทั่งเรื่องราวเกิดปะทุรุนแรงมากขึ้นจนถึงมีการคัดชื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงจำนวน 9 คน ออกจากบัญชีนักศึกษา เนื่องจากพวกเขาได้รวมกลุ่มกันออกหนังสือของชมรมคนรุ่นใหม่ชื่อ “มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ” พร้อมทั้งตั้งข้อหาพวกเขาว่าตั้งชมรมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัย ใช้สถานที่ในมหาวิทยาลัยเป็นที่ชุมนุมเป็นครั้งคราวโดยพละการ เขียนหนังสือก้าวร้าวผู้อื่นด้วยถ้อยคำอันหยาบคาย กล่าวถึงมหาวิทยาลัยรามคำแหงในทางที่ทำให้ผู้อื่นเกลียดชังตำหนินักศึกษาที่ตั้งหน้าเล่าเรียนว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว ด้วยเหตุนี้ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงขณะนั้นจึงสั่งลบชื่อออก ก็คือข้อความลอยๆ 4 บรรทัดในหน้า 6 ของหนังสือมหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ ว่า

“สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ฯ
มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก ๑ ปี
เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอก
เป็นที่ไม่น่าไว้วางใจ”

จนนำมาซึ่ง เหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้เกิดการประท้วงจนนำไปสู่การชุมนุมในวันที่ 21 และ 22 มิถุนายน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่อมามีการเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจการปกครองแก่ประชาชน และเรียกร้องให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายในหกเดือน ผลลงเอยที่ฝ่ายนักศึกษาชนะ โดยนักศึกษาทั้ง 9 คน ได้กลับเข้าเรียนตามปกติ ดร. ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี แต่ข้อเรียกร้องของศูนย์ฯที่ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญภายในหกเดือนนั้นกลับไร้ผล

ทั้งนี้จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศไทยได้เปลี่ยนการปกครองจากอำนาจเผด็จการทหารที่ในขณะนั้นเป็นของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร จนนำไปสู่การเลือกตั้ง

 

ขอบคุณที่มา : www.gunsandgames.net , www.arts.chula.ac.th

ภาพจากหนังสือบันทึกลับจากทุ่งใหญ่

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน