สผ. จับมือ BIOFIN ยกระดับ-กำหนดทิศทางด้านการเงิน หวังปิดช่องว่างทางการเงินในการจัดการความหลากหลายหลายทางชีวภาพในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พร้อมด้วยนายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการ สผ. ร่วมประชุมหารือทวิภาคีกับ UNDP’s Global BIOFIN โดย Mr. Onno van den Heuvel, BIOFIN global manager พร้อมด้วย Ms. Tracey Cumming, Senior Technical Advisor และทีม BIOFIN ประเทศไทย ยกระดับการดำเนินงานและกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนกลไกทางการเงินและการลงทุน เพื่อปิดช่องว่างทางการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย

นายพิรุณ กล่าวว่า ผลจากการประชุมหารือ มีข้อสรุปร่วมกันใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การขับเคลื่อนกลไกทางการเงินและเงินทุนจะดำเนินการในทิศทางที่ผสานการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพเข้าด้วยกัน โดยศึกษากลไกที่เหมาะสมในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อธรรมชาติควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยพิจารณาความเป็นไปได้ในส่งเสริมให้มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความหลากทางชีวภาพของภาคธุรกิจ

2.การขยายผลนวัตกรรมทางการเงินเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือโมเดลเกาะเต่า ที่คาดว่าจะสร้างรายได้มากกว่า 12 ล้านบาทต่อปี และ3.การขับเคลื่อนการดำเนินงานในการจัดทำงบประมาณแบบมุ่งผลลัพธ์ในระดับประเทศและท้องถิ่น การศึกษาเพื่อระบุและปรับเปลี่ยนแรงจูงใจที่เกิดผลลบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และการมีส่วนร่วมของภาคการเงินการธนาคารในการกำหนดนโยบายทางการเงินที่ยั่งยืน

 

ทั้งนี้ ได้มีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการขยายการดำเนินงานโครงการ BIOFIN ในประเทศไทยออกไปจนถึง พ.ศ.2570 และการเพิ่มความสนับสนุนในการจัดทำและทบทวนแผนการเงินด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ซึ่งในส่วนของประเทศไทย นับเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่มีการจัดทำแผนการเงินด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2562 และการนำร่องกลไกทางการเงินของประเทศไทยได้รับการยอมรับและถ่ายทอดบทเรียนสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก

BIOFIN หรือ Biodiversity Finance Initiative เป็นโครงการระดับโลกภายใต้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ดำเนินการนำร่องนวัตกรรมทางการเงินใน 41 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 เป็นต้นมา ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 โดยมีกิจกรรมการดำเนินงาน อาทิ การประเมินค่าใช้จ่ายและช่องว่างการดำเนินงานตามแผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดทำแผนการเงินด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืนในพื้นที่เกาะเต่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการในระยะที่ 2 ซึ่งจะสิ้นสุดในปี พ.ศ.2568

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน