กระทรวงพาณิชย์ ผนึกกำลัง TITA ดึง อินฟลูเอนเซอร์ไทย ผลักดันการค้าไทยไปสู่ตลาดโลก ขณะที่ TITA เตรียมยกระดับสร้างมาตรฐานอินฟลูเอนเซอร์ไทยให้เป็นสากล จ่อหารือแรงงานผุดใบประกอบวิชาขีพ
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2567 ที่งาน Creator Selection Thailand ดร. ภัณฑิล จงจิตรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ และนายก่อพงศักดิ์ ตันติศิริรักษ์ นายกสมาคมการค้าอินฟลูเอนเซอร์ไทย TITA ร่วมเปิดงาน Creator Selection Thailand ซึ่งภายในงานได้รวมครีเอเตอร์กว่า 400 รายร่วมเป็นสักขีพยานในการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของสมาคมอินฟูลเอ็นเซอร์ไทยที่จับมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการผลักดัน ครีเอเตอร์ไทยไปสู่ตลาดโลก
โดย ดร. ภัณฑิล กล่าวว่า รูปแบบการค้าในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะหลังโควิด-19 ความนิยมและอิทธิพลของ อินฟูลเอ็นเซอร์ ถือว่าเป็นบทบาทสำคัญ ต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค ทั้งการเติบโตของตลาดออนไลน์ และ e-commerce ในอนาคต ก็ต้องพึ่งพาคอนเทนต์ที่น่าดึงดูดเพื่อสร้างแรงจูงใจในการซื้อสินค้า ซึ่งถือเป็นบทบาทของ ครีเอเตอร์ หรือผู้สร้างคอนเทนต์โดยในปัจจุบัน มี ครีเอเตอร์ กว่า 51 ล้านคนทั่วโลก มีรายได้รวมต่อปีกว่า 16,800 ล้านดอลลาร์ ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับภาคเอกชน และผู้ผลิตซีรีส์วาย ซีรี่ส์ยูริ เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์สินค้าแบรนด์ไทย เนื่องจากการมีอินฟูลเอ็นเซอร์คนไทยที่มีความเข้าใจวัฒนธรรมของผู้บริโภคภายในประเทศถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการผลักดันการขายสินค้าจากธุรกิจไทยต่อตลาดออนไลน์ทั้งใน และต่างประเทศเรื่องนี้ถือเป็นโอกาสใหม่ สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยังช่วยเผยแพร่สินค้าไทยสู่สายตาชาวโลกโดยมีครีเอเตอร์เป็นผู้ช่วยสนับสนุนผลักดันเศรษฐกิจผ่านการขายสินค้าบนโลกออนไลน์
นายก่อพงศักดิ์ กล่าวว่า จุดประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ตั้งใจ เป็นการเปิดตัวสมาคมอย่างเป็นทางการ เนื่องจากปัจจุบันอินฟูลเอ็นเซอร์ ในไทยมีมาตรฐานที่ไม่ชัดเจน ทางสมาคมต้องการที่จะสร้างมาตรฐาน และคุณภาพที่ชัดเจนให้กับเหล่า อินฟูลเอ็นเซอร์ โดยหลังจากนี้จะทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดการค้าแนวใหม่ และจะทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้เกิดใบประกอบวิชาชีพ ของอินฟูลเอ็นเซอร์ หรือครีเอเตอร์ เพราะหากมีใบประกอบวิชาชีพก็ถือได้ว่าอินฟูลเอ็นเซอร์ไทยมีมาตรฐาน ในปัจจุบันยอดขายจากการขายของอินฟูเอนเซอร์ทำเงินแล้วกว่า 5 พันล้านบาท แต่ทางสมาคมต้องการผลักดันเพื่อให้ยอดไปถึง 20,000 ล้านบาท นี่ถือเป็นพันธกิจที่สมาคมอยากจะให้เกิดขึ้น และต้องการให้ ค่า GDP ของประเทศไทยเติบโตขึ้นมากกว่าเดิม
“หลังจากนี้เราตั้งใจจะทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน เพื่อผลักดันให้เกิดใบประกอบวิชาชีพ หลังจากนั้นเราจะผลักดันในเรื่องของกฎหมาย โดยมีความตั้งใจที่จะทำงานร่วมกับกระทรวงยุติธรรม ในการผลักดันให้เกิดกฎหมาย ที่ครอบคลุมการจัดทำ คอนเทนต์ ของเหล่า อินฟูลเอ็นเซอร์เพราะหากมี คอนเทนต์ที่ไม่ดีและไม่มีคุณภาพก็อาจทำให้สังคมเสื่อมเสีย การมีกฎหมายในการควบคุม จึงจำเป็นต้องทำงานร่วมกับกระทรวงยุติธรรมในอนาคต” นายก่อพงศักดิ์ กล่าว
ส่วนเรื่องของการผลักดันการค้าทางสมาคมได้จับมือกับกระทรวงพาณิชย์ และพูดคุยเบื้องต้นกันแล้ว ในเรื่องของการค้าแนวใหม่ และ หลังจากนี้จะมีโปรเจคที่ทางสมาคม ทำร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ในการผลักดันให้เกิดอินฟูลเอ็นเซอร์หน้าใหม่ หรือ อินฟูลเอ็นเซอร์เดิม เพื่อทำให้พวกเขาเหล่านี้ ผลิตผลงานที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก
นายก่อพงศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การใช้อินฟูลเอ็นเซอร์ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งทางตรงและทางอ้อม คือการที่ทำให้คนเข้าถึง แบรนด์ใหม่ ที่กำลังจะเกิดได้มากขึ้น แต่ในเรื่องนี้ก็ถือว่ามีมุมที่แย่เพราะหากคนเข้าถึงได้ง่าย ก็จะเข้าถึงอะไรที่เสื่อมเสียได้ง่ายเช่นกัน ฉะนั้น ในส่วนนี้สมาคมจึงต้องเข้ามาผลักดัน และช่วยเหลือ ว่าทำอย่างไรให้เกิด คอนเทนต์ ดีๆ การค้าดีๆ และผลักดันสินค้าไทยไปสู่ตลาดโลกได้ในอนาคต