สกศ.-สมาคมปัญญาประดิษฐ์ฯ ลงนามพิธีความร่วมมือทางวิชาการ ครั้งแรกในการใช้ AI และ วิทยาศาสตร์ข้อมูล ช่วยวิเคราะห์สภาวการณ์การศึกษาไทย ‘ดร.อรรถพล’ ชี้ประโยชน์ AI ช่วยเรียนรู้เร็วขึ้น แนะแนวโน้มข้อสอบ PISA ปีหน้า

วันที่ 8 พ.ค. 67 ที่ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานในการประชุมวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษาของประเทศไทย ไตรมาส 1 พ.ศ.2567 โดยมี นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา สกศ. ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ และ ผศ.ดร.รัชฎา คงคะจัทร์ อุปนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม

จากนั้น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่องความร่วมมือทางวิชาการ และการวิจัยเพื่อพัฒนาและประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์และวิทยาการข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษา

ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ.เล็งเห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษา การผลักดันคุณภาพการศึกษาให้เกิดขึ้นได้ต้องรู้ซึ่งปัญหาก่อน และรายงานสภาวการณ์ทางการศึกษาของไทย แสดงให้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการศึกษาเมื่อปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะไตรมาสที่ 1 นั้นมีอะไรบ้าง ส่วนที่ว่า การศึกษาไทยวิกฤตหรือไม่ และอยู่จุดไหนในมาตรฐานระดับสากลนั้น การสอบ PISA ระดับคะแนนไม่ใช่ตัวชี้วัดที่สำคัญ

แต่สิ่งสำคัญคือผลของการประเมินครั้งนี้ ที่สะท้อนว่าหน่วยงานศึกษาในไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการคิด วิเคราะห์ ฉะนั้นจึงต้องนำแก้ไขสถานการณ์การศึกษาของประเทศ ให้เด็กคิดวิเคราะห์ รักการอ่านมากขึ้น เพราะโจทย์ PISA ยาวมาก โดยมีเวลาอีก 1 ปีที่จะเตรียมสอบ PISA และคาดการณ์ว่าครั้งหน้าน่าจะออกสอบเกี่ยวกับเรื่องกรีน สืบเนื่องจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ตลอดจนเป็นประเด็นร้อนที่ถูกกล่าวถึงในหลายเวทีทางการศึกษา

“ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยี และ AI เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน และสำคัญต่อระบบการศึกษาด้วย ทว่า AI อยู่เหนือมนุษย์ไม่ได้เพราะมนุษย์เป็นผู้ผลิต AI จึงต้องมีแนวทางจากการวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษาว่า จะทำยังไงที่จะนำ AI มาพัฒนาคน ใช้ AI ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้เร็วขึ้น แต่ยังต้องเสริมเรื่องคุณธรรม จริยธรรมในการใช้ AI ด้วย” ดร.อรรถพล กล่าว

ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ กล่าวว่า ในการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) สมาคมฯ มองเป็น 2 ประเด็นคือ 1. ปัญญาประดิษฐ์ จะทำยังไงให้คนของเรามีความรู้ทางด้าน AI มากขึ้น ตลอดจนต้องทำให้คนทั่วไปตระหนักเรื่องจริยธรรม และมีความเท่าทัน AI และ 2.ความท้าทายในการนำ AI มาประยุต์ใช้ในการศึกษาไม่ใช่การทำแทน เพราะจะทำให้เด็กมีความรู้ลดลง แต่คือการทำให้คนของเราก่งขึ้น

นางอำภา พรหมวาทย์ กล่าวว่า สำนักประเมินผลการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มีภารกิจในการติดตามความเคลื่อนไหว และรายงานสภาวการณ์ทางการศึกษา เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดนโยบายด้านการศึกษา อย่างไรก็ตามในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษาเพียงปีละ 1 ครั้งอาจจะไม่เพียงพอ จึงได้พัฒนารูปแบบเพิ่มความถี่ในการวิเคราะห์ และจัดทำรายงานเป็นรายไตรมาส เพื่อให้ข้อมูลมีความทันสมัยสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเท่าทัน

ผศ.ดร.รัชฎา คงคะจัทร์ กล่าวว่า งานการศึกษาเป็นงานใหญ่ ที่ต้องเจอกับข้อมูลเยอะมาก เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมีตัวช่วย ซึ่งเครื่องมือที่มาแรงคือ AI หรือวิทยาศาสตร์ข้อมูล เพราะหากในระบบการศึกษามีข้อมูลมหาศาล อย่างช่วงโควิดที่ผ่านมา ทำให้การเรียนออนไลน์เกิดขึ้นได้จริง ทั้งยังเกิดเป็นกลุ่มข้อมูลขนาดใหญ่ จจุดนี้วิทยาศาสตร์ข้อมูลช่จะวยจำแนกได้ โดย AI จะเข้ามามีบทบาทในการวิเคราะห์และกำหนดรูปแบบการศึกษาให้ตรงจุดมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน