นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปีนี้ไม่รุนแรงเท่ากับ 3 ปีที่ผ่านมา โดยจากการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในปีนี้พบว่ามีเพียง 4 ราย น้อยกว่า 2560 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 11 ราย อย่างไรก็ตามเพื่อกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้รวดเร็วมากขึ้น กระทรวงเกษตรฯ จึงเร่งบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติ(พรบ.) โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ผ่านการดำเนินการ 3 มาตรการ ได้แก่ 1.จังหวัดใดถูกประกาศเป็นเขตโรคระบาด ในรัศมี5 กิโลเมตร(กม.) สัตว์ทุกตัวจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนให้ครบ 100% 2.หากพบว่ามีสัตว์ที่มีความเสี่ยงเนื่องจากเคยอยู่ร่วมฝูงกับสัตว์ที่เกิดโรคนี้ ทางกระทรวงเกษตรฯ จะให้อำนาจสัตวแพทย์นำมาเลี้ยงดูตามอาการ และ3.หากสัตว์แสดงอาการว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า หรือสงสัยว่าเป็นโรค สามารถนำไปทำลายได้ทันที

น.สพ.อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนม.ค.– 12 มี.ค. 2561 กรมปศุสัตว์ได้ประกาศพื้นที่เขตโรคระบาดชั่วคราวทั้งหมด 37 จังหวัด ซึ่งขณะนี้คงเหลือประกาศ 26 จังหวัด อาทิ อยุธยา นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี เป็นต้น โดยประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราวมีอายุ 30 วันนับตั้งแต่วันประกาศ สำหรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและควบคุมโรคระดับจังหวัดและอำเภอ ทำหน้าที่กำหนดแผนการฉีดวัคซีน โดยขณะอคง์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดซื้อวัคซีนและเริ่มทยอยส่งมอบในพื้นที่แล้วกว่า 50% คาดว่าจะทำการฉีดวัคซีนให้สัตว์ทุกตัวได้ภายในพ.ค.นี้ โดยเฉพาะสุนัขและแมวจรจัดตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ถึง 80% โดยกรมปศุสัตว์ตั้งเป้าฉีดวัคซีนสัตว์ให้ครบ 10 ล้านตัว ภายใน ก.ย.61

ขณะที่การทำผ่าตัดทำหมันสัตว์ ปัจจุบันสามารถได้ถึง 79,431 ตัว คาดว่าจะครบตามเป้าหมาย 200,000 ตัว ภายในเดือก.ย.นี้ ส่วนการอบรมอาสาปศุสัตว์และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) เพื่อฉีดวัคซีนให้เป็นไปตาม พรบ.วิชาชีพสัตวแพทย์ ปี 61 ขณะนี้อบรมไปแล้วจำนวน 15,500 ราย จากเป้าหมายทั้งหมด 17,500 ราย

“เรื่องจำนวนวัคซีนในปี 61 ปัจจุบันมีบริษัทนำเข้าวัคซีน 3 บริษัท รวมกันจำนวนกว่า 10 ล้านโด๊ส ซึ่งเพียงพอกับปริมาณที่จะฉีดให้กับสัตว์ในประเทศแน่นอน เพราะจากการสำรวจทั่วประเทศมีจำนวนสุนัขและแมว ประมาณ 10 ล้านตัว แบ่งเป็น สุนัข 7 ล้านตัน และแมว 3 ล้านตัว ส่วนสุนัขและแมวจรจัดมีอยู่ราว 1 ล้านตัว โดยกรมปศุสัตว์จะซื้อวัคซีนประมาณ 1 ล้านโด๊ส เพื่อนำมาฉีดให้การควบคุมโรคในพื้นที่เกิดโรคและพื้นที่เสี่ยงเกิดโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนประชาชนที่เลี้ยงสัตว์ทั่วไปสามารถนำสุนัขและแมวมาฉีดวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลทั่วประเทศ”

อย่างไรก็ตามกรมปศุสัตว์ยังมีเป้าหมายจะทำให้ประเทศไทยปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้าทุกจังหวัดภายในปี 2563 ตามโครงการสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จึงมีการจัดระดับการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า แบ่งออกเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.จังหวัดสีเขียว หรือจังหวัดที่ไม่พบการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์ ไม่น้อยกว่า 2 ปี จำนวน 21 จังหวัด อาทิ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ เป็นต้น

2.จังหวัดสีเหลือง หรือจังหวัดที่พบการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าเฉพาะในสัตว์ จำนวน 41 จังหวัด อาทิ กระบี่ กาญจนบุรี กำแพงเพชร เป็นต้น และ3.จังหวัดสีแดง หรือ ที่จังหวัดที่พบการเกิดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์ ในระยะเวลา 2 ปี จำนวน 15 จังหวัด อาทิ สุรินทร์ ชลบุรี สมุทรปราการ เป็นต้น โดยกรมปศุสัตว์จะเร่งยกระดับให้จังหวัดที่อยู่ในสีแดงหรือพบการเกดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน