อีกตัวละครที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ จากละคร บุพเพสันนิวาส คือ ศรีปราชญ์ บุตรของพระโหราธิบดี พี่ชายของขุนศรีวิสารวาจา ตามประวัติศาสตร์ ท่านศรีปราชญ์ คือกวีเอกในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นบุตรของพระโหราธิบดี โดยในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถือได้ว่าเป็น “ยุคทองของวรรณคดี” มีทั้งบทโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เกิดขึ้นมากมาย ครั้งหนึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งโคลงได้เพียง 2 บาท หรือสองบรรทัดเท่านั้น ก็ทรงติดขัด ดังนี้

อันใดย้ำแก้มแม่ หมองหมาย

ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย ลอบกล้ำ

จึงทรงพระราชทานแผ่นกระดานชนวนที่ทรงแต่งบทโคลงนั้นให้แก่พระยาโหราธิบดี หรือ พระยาราชครู ซึ่งเป็นบิดาของ ศรีปราชญ์ เพื่อนำไปแต่งต่อให้จบ พระยาโหราธิบดีนอกจากจะมีความสามารถในด้านการพยากรณ์แล้ว ยังมีความรู้ความสามารถอื่นๆ อีกรอบด้าน โดยเฉพาะความสามารถในด้านการแต่งโคลงกลอน ถือเป็นมือหนึ่งในยุคนั้นเลยทีเดียว และเมื่อรับแผ่นกระดานชนวนที่มีบทโคลงที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งค้างเอาไว้แล้ว ก็พิจารณาจะแต่งต่อให้เดี๋ยวนั้น แต่ก็ไม่สามารถจะแต่งต่อได้ จึงขอพระราชทาน เอาไว้แต่งต่อที่บ้าน ซึ่งพระองค์ก็ทรงไม่ขัดข้อง

เล่ากันว่าเมื่อพระยาโหราธิบดีกลับไปถึงบ้านก็นำแผ่นกระดานชนวนนั้นไปไว้ในห้องพระด้วยเป็นของสูง จากนั้นก็ไปอาบน้ำจนกระทั่งบุตรชายวัย 9 ขวบ ชื่อ ศรี ได้เข้ามาในห้องพระเพื่อเข้ามาหาผู้เป็นบิดา และพบกระดานชนวนนั้น ด้วยความซุกซนและเฉลียวฉลาด เจ้าศรีเลยเอาดินสอพองมาเขียนแต่งต่ออีก 2 บาท ต่อจากที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งค้างเอาไว้ ว่า

ผิวชนแต่จะกราย ยังยาก

ใครจักอาจให้ช้ำ ชอกเนื้อ เรียมสงวน

ความหมายของโคลงบทนี้ที่เจ้าศรีแต่งต่อมีอยู่ว่า “คงไม่มีผู้ใดในแผ่นดินนี้ที่จะอาจสามารถเข้าไปย่างกรายนางได้ง่าย และจะบังอาจไปทำให้แก้มของนวลนางอันเป็นที่รักและหวงแหนต้องชอกช้ำไปได้”

เมื่อพระยาโหราธิบดีอาบน้ำเสร็จ ก็เข้ามาที่ห้องพระแล้วสังเกตว่ากระดานวางอยู่ต่างจากเดิม จึงคิดในใจว่า ต้องเป็นฝีมือของเจ้าศรี บุตรชายของตนเป็นแน่ แต่ว่า เมื่อเห็นโคลงที่บุตรชายของตนแต่งต่อก็หายโกรธในทันที แล้ววันรุ่งขึ้น พระยาโหราธิบดีก็นำกระดานชนวนนั้น ไปถวายสมเด็จพระนารายณ์

ปรากฏว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก พระองค์จึงทรงเรียกตัวเด็กชายศรีเข้ารับราชการ แต่ด้วยความที่เจ้าศรียังเป็นเด็ก พระยาโหราธิบดีจึงกราบบังคมทูลสมเด็จพระนารายณ์ขอให้บุตรชายของตนเจริญวัยขึ้นมาก่อน เมื่อถึงเวลาอันสมควรแล้ว ตนจะนำบุตรชายมาถวายตัวรับใช้เบื้องพระยุคลบาท

ด้วยความที่พระยาโหราธิบดีมีความสามารถ ในการพยากรณ์ และได้ทำการทำนายทายทักดวงชะตาให้บุตรชายตนแล้วพบว่า เจ้าศรีอายุจะสั้นด้วยต้องอาญา และทำการประวิงเวลาที่จะให้บุตรชายถวายตัวเข้ารับราชการเรื่อยมา

 

จนกระทั่งเจ้าศรีมีอายุได้ 15 ปี และเรียนรู้สรรพวิทยาการต่างๆ จากผู้เป็นพ่อจนหมดสิ้นแล้ว พระยาโหราธิบดีจึงได้ถามความสมัครใจของบุตรชายว่าอยากจะเข้าไปรับราชการในวังหรือไม่ ซึ่งเจ้าศรีนั้นก็ดีใจ และเต็มใจที่จะเข้าไปรับราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง ดังนั้น เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงทวงถามอีกครั้งหนึ่ง พระยาโหราธิบดีจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีก แต่ก่อนที่จะนำเจ้าศรีบุตรชายเข้าถวายตัวนั้น พระยาโหราธิบดีได้ขอพระราชทานคำสัญญาจากสมเด็จพระนารายณ์ 1 ข้อ คือ หากว่าเมื่อเจ้าศรีรับราชการแล้ว และหากกาลภายภาคหน้าได้กระทำความผิดใดๆ ที่ไม่ใช่ความผิดต่อราชบัลลังก์ ขอให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงละเว้นโทษประหารชีวิต ขอเพียงแต่ให้เนรเทศไปให้พ้นจากเมืองเสีย ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงพระราชทานสัญญานั้น

เมื่อเจ้าศรีเข้าถวายตัวรับราชการแล้ว สมเด็จพระนารายณ์ทรงให้เจ้าศรีอยู่ในตำแหน่งมหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิดพระองค์ เมื่อเสด็จไปไหนก็ทรงให้เจ้าศรีติดตามไปด้วยทุกหนทุกแห่ง

มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงนึกสนุกอยากที่จะให้ความสามารถของเจ้าศรีเป็นที่ประจักษ์แก่ทุกคน พระองค์จึงทรงแต่งโคลงกลอน ขึ้นมาบทหนึ่ง แล้วให้บรรดาเหล่าข้าราชบริพารตลอดจนนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายที่เข้าเฝ้าฯ ณ ที่นั้น ช่วยกันแต่งต่อ เพื่อประชันความสามารถกัน แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดแต่งโคลงกลอนได้ดีและถูกพระราชหฤทัยพระองค์เทียบเท่ากับของเจ้าศรี สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงให้บำเหน็จด้วยการพระราชทานพระธำมรงค์ให้และตรัสว่า “เจ้าศรี เจ้าจงเป็นศรีปราชญ์ ณ บัดนี้เถิด”

ศรีปราชญ์ได้รับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทอยู่หลายปี จนกระทั่งเป็นหนุ่มฉกรรจ์ และด้วยนิสัยเจ้าชู้ตามอารมณ์ของกวี บวกกับความคึกคะนอง และถือตัวว่าเป็นคนโปรดของพระนารายณ์ จึงทำให้ศรีปราชญ์ต้องโทษถึงกับติดคุกหลายครั้ง ด้วยมักไปทำรุ่มร่ามแต่งโคลงเกี้ยวพาราสีบรรดาสาวใช้ในวัง แต่พอพ้นโทษมาก็ไม่เข็ด มีอยู่ครั้งหนึ่งศรีปราชญ์ได้แต่งโคลงถึงท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ทำให้ท้าวศรีฯ สนมเอกไม่พอพระทัยไปทูลฟ้องสมเด็จพระนารายณ์ฯ และมีเหตุให้โทษถึงประหาร แต่พระโหราธิบดีได้เคยทูลขอกับสมเด็จพระนารายณ์ฯ ว่า หากเจ้าศรีทำผิดแล้วมีโทษถึงประหาร ขอพระราชทานให้ลดโทษเหลือเพียงเนรเทศ ดังนั้นสมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงเนรเทศศรีปราชญ์ไปเมืองนครศรีธรรมราช

ซึ่งที่เมืองนครศรีธรรมราชนี้เองที่ศรีปราชญ์สามารถแสดงทักษะด้านกวีได้อีกเช่นกัน เพราะว่าท่านเจ้าเมืองเองก็มีใจชอบด้านกวีอยู่แล้ว และด้วยความเป็นอัจฉริยะของศรีปราชญ์นี้เองที่ทำให้ท่านเจ้าเมืองโปรดปรานจนมีคนหมั่นไส้และเคืองแค้นศรีปราชญ์ จึงได้ใส่ร้ายศรีปราชญ์ ว่าลักลอบเป็นชู้กับภริยาของพระยานคร พระยานครหลงเชื่อจึงสั่งให้นำตัวศรีปราชญ์ไปประหารชีวิต

ศรีปราชญ์ประท้วงโทษประหารชีวิตแต่ท่านเจ้าเมืองไม่ฟัง ซึ่งปัจจุบันเชื่อกันว่าสถานที่ใช้ล้างดาบที่ใช้ประหารชีวิตศรีปราชญ์นั้น ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียกว่า “สระล้างดาบศรีปราชญ์” และก่อนที่เพชฌฆาตจะลงดาบประหารศรีปราชญ์ได้ขออนุญาตเขียนโคลงบทสุดท้ายไว้กับพื้นธรณีว่า

ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน

เราก็ศิษย์มีอาจารย์ หนึ่งบ้าง

เราผิดท่านประหาร เราชอบ

เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนี้คืนสนองฯ

ในขณะที่ถูกประหารนั้นศรีปราชญ์มีอายุประมาณ 30-35 ปี ข่าวการประหารศรีปราชญ์ แพร่ไปถึงพระกรรณของสมเด็จพระนารายณ์ผู้ซึ่งใคร่จะเรียกตัวศรีปราชญ์มาใช้งานในเมืองหลวง พระองค์ทรงพระพิโรธเจ้าเมืองนครฯ ผู้ซึ่งกระทำการโดยปราศจากความเห็นชอบของพระองค์ และเมื่อพระองค์ได้ทราบถึงโคลงบทสุดท้ายของศรีปราชญ์จึงมีพระบรมราชโองการให้นำเอาดาบที่เจ้าพระยานครฯ ใช้ประหารศรีปราชญ์นั้นนำมาประหารชีวิตเจ้านครศรีธรรมราช ให้ตายตกไปตามกัน สมดังคำที่ศรีปราชญ์เขียนไว้เป็นโคลงบทสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิตว่า “ดาบนี้คืนสนอง”

โดยในละคร บุพเพสันนิวาส มีฉากสำคัญ ดังกล่าว ที่ทำเอาขนลุกมากๆ ทั้งกองละครด้วย คือ ตอนถ่ายทำช่วงสุดท้าย จะต้องถ่ายฉากปิดตัวสมเด็จพระนารายณ์ เป็นฉากที่พระองค์ตรอมใจอย่างที่สุดแล้ว ขณะนั้นได้รับข่าวศรีปราชญ์ที่พระองค์ทรงรักมาก ที่ส่งไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราชแล้วถูกฆ่า ต้องนอนตรอมใจ มองท้องฟ้า มองดาว ช่วงค่ำ เซ็ตทุกอย่างพร้อมหมด ปรากฏว่าฝนตกลงมา พายุหนัก ปราปต์ปฏล สุวรรณบาง ผู้รับบท พระนารายณ์ ได้กางร่มออกไปกลางแจ้ง จุดธุป 9 ดอก พร้อมบอกให้ทีมงานที่กางร่มเอาร่มออก เมื่อก้มปักธูปเสร็จ ปรากฏว่าฝนที่กำลังตกหนักอยู่ หยุดขาดเม็ดทันที ทำเอาทุกคนในกองถ่ายเห็นแล้วถึงกับยืนมองหน้ากันหมด

cr.ข้อมูลประวัติศาสตร์ , ช่อง3

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน