4 ปี สคทช. “Smart Land, Smart Future” เดินหน้าพัฒนาระบบการบริหารจัดการที่ดินผ่าน AI ออกหนังสืออนุญาตแล้ว กว่า 2.7 ล้านไร่ รวมกว่า 9.1 หมื่นราย
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ห้องวายุภักษ์แกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนซันเซ็นเตอร์ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พร้อมด้วย นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะฯ เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ พร้อมมอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติแก่หน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนภารกิจ คณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐ (คพร.จังหวัด) และคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด) ดีเด่น ในงานสัมมนายกระดับการบริหารจัดการที่ดินผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) 4 ปี สคทช. “Smart Land, Smart Future” โดยมี ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผอ.สํานักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สคทช. ผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน กว่า 500 คนร่วมให้การต้อนรับและเข้าร่วมงานฯ
นายประเสริฐ กล่าวว่า ในปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลมีอิทธิพลอย่างมากต่อการดำเนินงานของภาครัฐ ภาคธุรกิจ ตลอดจนการใช้ชีวิตของประชาชน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการบริหารจัดการที่ดินของประเทศจึงเป็นการสร้างความทันสมัยและเสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อันจะก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงกับพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มาใช้ในการบริหารจัดการที่ดินของ สคทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 หรือ One Map การปรับเปลี่ยนการจัดทำแผนที่แนบท้ายให้เป็นรูปแบบดิจิทัล การนำเทคโนโลยี AI และ Deep Learning มาพัฒนาประสิทธิภาพการพิสูจน์สิทธิในเขตที่ดินของรัฐ การใช้ Big data ในการจัดทำฐานข้อมูลกลางด้านที่ดินของประเทศ การติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน การจัดทำฐานข้อมูลที่ดินเพื่อรองรับการใช้กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของ EU หรือ EUDR การเสริมสร้างขีดความสามารถของประชาชนในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลข่าวสารในการผลิตและประกอบอาชีพผ่านการใช้ Internet of Things เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart farming) และส่งเสริมการขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์
สิ่งเหล่านี้ล้วนตอบโจทย์นโยบายการพัฒนาดิจิทัลของรัฐบาล ในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสร้างโอกาสทางสังคมอย่างเท่าเทียม ซึ่งรวมถึงการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานด้านไฟฟ้า ประปา โดยผ่านกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ของ คทช. ที่นำเทคโนโลยีการอ่านภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน โดยจะเห็นได้ว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มาใช้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน เป็นการวางรากฐานที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างและกระบวนการทำงานที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนในวงกว้าง ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึง พัฒนาและใช้ประโยชน์จากสารสนเทศและบริการภาครัฐได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสและการเข้าถึงบริการของภาครัฐแล้ว ยังช่วยลดช่องว่างระหว่างผู้ที่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลกับผู้ที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงและไม่สามารถใช้ประโยชน์จากไอซีทีได้
“ผมขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยกันพิจารณากำหนดแนวทางในการดำเนินงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์ของประเทศในภาพรวม โดยเฉพาะการร่วมมือกันในการจัดทำแผนที่ digital เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ต่อไป และขอให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ สคทช. ทุกท่าน เดินหน้าปฏิบัติงานด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจมุ่งบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการแก้ไขปัญหาที่ดินของประเทศอย่างเป็นธรรม เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม แก้ไขปัญหาความยากจนของพี่น้องประชาชน ช่วยพัฒนาทุนมนุษย์สู่ยุคดิจิทัล และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของไทยในเวทีโลกอย่างยั่งยืน” นายประเสริฐฯ กล่าว
ดร.รวีวรรณ ผอ.สคทช. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา สคทช. ได้ขับเคลื่อนวาระเร่งด่วนในการบริหารจัดการที่ดินเพื่อพัฒนาโครงสร้าง ระบบ กลไก จัดทำนโยบาย แผน มาตรการ และขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ เพื่อสร้างการบูรณาการในการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินทำกินให้กับประชาชน โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ประกอบด้วย การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map) เพื่อลดปัญหาการทับซ้อนของแนวเขตที่ดินของรัฐภายใต้หลักการ One Land, One Law ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จและคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วใน 4 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 44 จังหวัด ขณะที่กลุ่มที่ 5 ได้ผ่านการเห็นชอบของ คทช. แล้ว อยู่ระหว่างการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา และยังได้มีการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐและแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของราษฎรตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี กรณีพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งมายาวนานกว่า 50 ปี การพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐและการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ในปีงบประมาณ 2567 สามารถแก้ปัญหาได้ข้อยุติใน 1,050 ราย จำนวน 1,071 แปลง เนื้อที่ 6,850 ไร่ และได้มีการส่งไปอ่านแปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศ จำนวน 373 ราย จำนวน 404 แปลง
สำหรับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ตามหลักเกณฑ์ที่ คทช. กำหนด โดยให้หนังสืออนุญาตทำกินและสามารถตกทอดสู่ทายาทได้ ซึ่งได้มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายทั้งสิ้น 1,594 พื้นที่ ในเนื้อที่ 5.92 ล้านไร่ มีการออกหนังสืออนุญาตแล้วประมาณ 2.7 ล้านไร่ และมีการจัดคนเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินแล้วประมาณ 92,000 ราย และส่งเสริมพัฒนาอาชีพแล้วกว่า 350 พื้นที่ ใน 68 จังหวัด รวมถึงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (Big Data Platform) และการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการและแก้ไขปัญหาเรื่องร้องทุกข์ที่ดินและทรัพยากรดิน ในรูปแบบ e-Petitions และผ่าน Application “ทางรัฐ”
ทั้งนี้ สคทช. มีเป้าหมายที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม สะดวกและรวดเร็ว ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดขับเคลื่อนแนวทางการสร้างมูลค่าที่ดินที่รัฐจัดให้กับประชาชน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถนำสมุดประจำตัวผู้ได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยในพื้นที่ คทช. เป็นหลักประกันในการเข้าถึงแหล่งทุนของรัฐในการประกอบอาชีพได้ รวมทั้ง การเร่งรัดผลักดันให้ความช่วยเหลือประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตที่ดินของรัฐให้เข้าถึงสาธารณูปโภคไฟฟ้า ประปา เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป
สำหรับการจัดโครงการสัมมนาฯ ในครั้งนี้ ได้มีกิจกรรม ประกอบด้วย การเสวนาในหัวข้อ “Smart Land, Smart Future” และการเสวนาในหัวข้อ “เสริมพลังเกษตรกรรายย่อยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Empowering small-scale farmers through digital technology) โดยทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ตลอดจนการมอบใบประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ปฏิบัติงานดีเด่นที่ร่วมขับเคลื่อนภารกิจ คทช. ประจำปีงบประมาณ 2567 และการจัดนิทรรศการผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการที่ดินและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) อีกทั้ง ได้นำเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ และภาคีเครือข่ายขนทัพสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงผลิตภัณฑ์จากชุมชน คทช. ที่คัดสรรจากทั่วทุกภูมิภาคของไทยมาจำหน่ายกว่า 100 บูธ โดยมีกำหนดการจัดงาน ในระหว่างวันที่ วันที่ 10 – 11 ก.พ. 2568 ณ ห้องวายุภักษ์แกรนด์บอลรูมชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนซันเซ็นเตอร์ และลานเอนกประสงค์ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ตั้งแต่เวลาประมาณ 08.30 – 16.30 น. เป็นต้นไป