“ไฟป่า” นับเป็นปัญหาระดับชาติที่มีความสำคัญมากขึ้นทุกปี เมื่อเกิดไฟป่า นอกจากจะส่งผลกระทบต่อพืช ทำให้โครงสร้างของป่าเปลี่ยนแปลง ดินเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ เมื่อฝนตกลงมาจะไม่ซึมลงดิน ทำให้เกิดน้ำท่วมตามมา ถ้าเป็นฤดูร้อน ชั้นดินจะไม่มีน้ำสะสม กลายเป็นภัยแล้ง

สาเหตุของไฟป่ามีทั้งเกิดจากธรรมชาติ เช่น ฤดูกาลที่อากาศมีความแห้งแล้ง อุณหภูมิสูง ในป่ามีเศษหญ้า กิ่งไม้ ใบไม้แห้ง ทำให้ความร้อนทับถมจนมีโอกาสเกิดไฟลุกไหม้และลามต่อเนื่องได้ กับที่เกิดโดยฝีมือมนุษย์ ก็คือชาวบ้านเก็บหาของป่า หรือชาวไร่ที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว จะเลือกใช้วิธีเผาป่าเพื่อเริ่มทำเกษตรครั้งใหม่ จนถึงเผาเพราะผลิตผลจากธรรมชาติบางชนิดไม่สามารถขึ้นได้หากมีต้นไม้และหญ้าปกคลุมดิน

ผลกระทบของการเกิดไฟไหม้ป่าในวันนี้ ไม่ได้เพียงสร้างความเสียหายให้ป่า หรือทำให้สัตว์ที่มีป่าเป็น “บ้าน” ต้องถูกไฟคลอกจนตายอย่างทรมานเท่านั้น แต่เพราะโลกกำลังเผชิญกับสภาวะโลกเดือดจากการเพิ่มปริมาณของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ หากมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและเผาทำลายป่ามากขึ้นเท่าไร ก็ส่งผลให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ไฟป่าและการเผาเพื่อเกษตรกรรมยังเป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดมหันตภัยฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ภัยร้ายที่ทำให้คนเจ็บป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ตลอดจนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ขานรับนโยบายนายกฯ เฝ้าระวังเข้มไฟป่า

นับแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เร่งกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการการจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 ตามบทบาทภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ทั้งการออกประกาศห้ามเผา การบริหารจัดการซังข้าวโพดและต้นอ้อยแห้ง ด้วยการฝังกลบแทนการเผา ฯลฯ พร้อมทั้งมอบหมายให้ “กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ตรวจสอบทุกพื้นที่อย่างใกล้ชิด เมื่อใดที่พบเห็นการเผา ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายทันที รวมถึงเตรียมการรับมือดับไฟป่าอย่างทันท่วงที

เป็นที่มาของนโยบาย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทส. ในการสั่งการให้หน่วยงานในระดับพื้นที่ ทั้งของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมควบคุมมลพิษ รวมถึงสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้ง 76 จังหวัด ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยเร่งดำเนินการในแต่ละพื้นที่ ดังนี้

“พื้นที่ป่า” กำชับใช้กฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนเผาป่าอย่างจริงจัง ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชุมชนทุกหมู่บ้านในพื้นที่ 14 กลุ่มป่าอย่างเร่งด่วน พร้อมประสานความร่วมมือกับท้องถิ่น ท้องที่ ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดในการร่วมมือแก้ไขปัญหาไฟป่า รวมถึงเข้าถึงพื้นที่และควบคุมไฟป่าให้ได้เร็วที่สุด พร้อมทั้งเร่งจัดการใบไม้ใบหญ้าที่จะเป็นวัสดุเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า เพื่อลดการเกิดจุดความร้อนให้เหลือน้อยที่สุด

“การเผาในพื้นที่โล่ง” ลงพื้นที่ตรวจสอบและประสานกับผู้ว่าฯ ในการประกาศเขตห้ามเผา เพื่อดำเนินคดีกรณีพบเจอการเผาทันที และ

“การตรวจรถยนต์ควันดำ” วางมาตรการเชิงป้องปรามในการตรวจสอบรถยนต์ควันดำอย่างเข้มข้นและเป็นรูปธรรม

ลงพื้นที่เร่งสำรวจ ร่วมดับไฟป่าทั่วประเทศ

หลังรับนโยบายนายกรัฐมนตรี ดร.เฉลิมชัย ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การป้องกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเริ่มเตรียมการในเดือนพฤศจิกายน 2567 ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงเฝ้าระวังในต้นปี 2568 โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตก ที่ตรวจพบจุดความร้อนสะสมสูงอย่างต่อเนื่อง พร้อมสั่งการให้เฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงฯ เตรียมพร้อมตลอดเวลาเพื่อเข้าร่วมปฏิบัติการดับไฟป่าเมื่อเกิดเหตุได้ทันที โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าลึกยากต่อการเข้าถึง การร่วมปฏิบัติการบินตักน้ำดับไฟ เพื่อช่วยลดความรุนแรงของไฟและควบคุมไฟบางส่วน ซึ่งจะช่วยชะลอการลุกลามของไฟให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าดำเนินการต่อทางภาคพื้นดินได้

สานกำลังชุมชน ร่วมเป็นอาสาเฝ้าระวัง

นอกจากการเสริมกำลังของเจ้าหน้าที่และการลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยตนเองแล้ว ดร.เฉลิมชัย ยังให้ความสำคัญกับกลไกการขับเคลื่อนในระดับท้องถิ่น ด้วยการสร้างความรับรู้ความเข้าใจ พร้อมลงนามความร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่รอบป่า ให้ช่วยเฝ้าระวังป้องกันไฟป่า งดเผาในที่โล่ง เป็นการบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน มลพิษทางอากาศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฝุ่น PM2.5

“ฝากถึงพี่น้องประชาชนว่า ทรัพยากรเป็นของพวกเราทุกคน ต้องช่วยกัน เพราะจากสถิติและการรายงาน ชี้ว่า 90% ของไฟป่าที่เกิดขึ้นมาจากน้ำมือมนุษย์ ขอให้ช่วยกันสอดส่องดูแล ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อลูกหลานและประเทศชาติ รวมไปถึงเศรษฐกิจในอนาคต”

นอกจากนี้ ในช่วงมีนาคม-เมษายน เป็นช่วงที่มหันตภัยฝุ่นจิ๋วในไทยพุ่งสูงมากที่สุดในรอบปี ทุกคนจึงต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังไม่ให้เกิดไฟป่า งดเผาขยะและเศษกิ่งไม้ใบไม้ในที่โล่ง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เกษตรหรือพื้นที่ส่วนบุคคล เชื่อว่าหากมีความร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจังแล้ว จะเป็นการแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน