คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง

พระสังกัจจายน์ พระพุทธสาวกผู้โดดเด่นและเป็นที่ยอมรับทั้งพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานและหินยาน ลัทธิมหายานมักเรียกว่า “พระสังกัจจายน์โพธิสัตว์” สำหรับลัทธิหินยานนั้น จะหมายความถึง “พระศรีอารยเมตไตรย” หรือ “พระศรีอาริย์” โดยเชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขสมหวัง ความอุดมสมบูรณ์ และมั่งคั่งมั่นคง

จะสังเกตได้ว่าทั้งวัดไทย วัดจีน รวมทั้งศาลเจ้าต่างๆ มักมี “รูปเคารพพระสังกัจจายน์” ประดิษฐานอยู่ทุกที่ นอกจากการ กราบไหว้บูชาแล้ว ยังใช้เป็น “สิ่งมงคล” เพื่อมอบอวยพรให้แก่กันและกันอีกด้วย

พระสังกัจจายน์ ในภาษาจีนเรียก “หมีเล่อฝอ” ญี่ปุ่นเรียก “คะเซ็นเน็น” เป็นหนึ่งในพระอรหันต์พุทธสาวก พุทธสาวกสำคัญ 80 รูป

พระสังกัจจายน์ เดิมนั้นเป็นบุรุษผู้มีรูปร่างงดงาม ผิวพรรณผุดผ่องดุจทองคำ จนเป็นที่ต้องตาต้องใจแก่คนทั่วไป ไม่ว่าชายหรือหญิง เมื่อเห็นก็อยากพบอยากทำบุญ สตรีเพศทั้งหลายก็ต่างพากันหลงใหล คอยเฝ้าดูเฝ้าชมกันไม่ลุกไปไหน อันเป็นการขัดขวางซึ่งการปฏิบัติสมณธรรม ท่านจึงไปทูลขออนุญาตพระพุทธองค์เพื่อขอแปลงกาย จากนั้นตั้งจิตอธิษฐานด้วยอภิญญาของท่านแปลงกายให้อ้วนพุงพลุ้ย น่าเกลียด เพื่อความสงบแห่งจิตและกิเลส

แต่ถึงอย่างไร ใบหน้าของท่านยังคงอวบอิ่ม ผ่องใส เริงร่า ด้วยจิตใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาบารมี แม้รูปลักษณ์ภายนอกจะเปลี่ยนแปลง ผู้คนก็ยังคงศรัทธาทำบุญกับท่านไม่ขาด เปรียบได้กับ “พระสีวลี” พระอรหันต์แห่งโชคลาภ ก็ว่าได้

ดังนั้น เมื่อคณะสงฆ์ต้องเดินทางจาริกไปเป็นจำนวนมาก หากพระสีวลีไม่สามารถเดินทางไปด้วยได้หรือไม่อยู่ พระพุทธองค์ก็ทรงให้พระสังกัจจายน์ ไปด้วย เพื่อจะได้ไม่ติดขัดเรื่องอาหารบิณฑบาต ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นในทุกครา

พระสังกัจจายน์ ที่เราพบเห็นกันโดยทั่วไป จึงเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะอ้วนพลุ้ย เปลือยอก ใบหน้าสดชื่นร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใสอย่างมีเมตตา สองหูยาวจรดบ่า และมีท่านั่งแบบสบายๆ นอกจากนี้ถ้าเป็นศิลปะตามคติมหายานของจีน โดยมากจะปรากฏรูป เด็กผู้ชาย 5 คน วิ่งรายล้อมหรือปีนป่ายอยู่รอบกาย สื่อความหมายถึง “อู่ฝู” หรือ ความสุข 5 ประการ อันถือเป็นความสุขที่เที่ยงแท้ของชีวิตมนุษย์

ในทางพุทธศาสนามหายาน คติการสร้างรูปเคารพ “พระสังกัจจายน์” เริ่มเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ซ้อง) ซึ่งเป็นสมัยที่มีความรุ่งเรืองด้านศิลปหัตถกรรมจีน รูปเคารพทางพุทธศาสนา จึงใช้เป็นสื่อมงคลในราชสำนักและคหบดีทั่วไป ทั้ง ภาพวาด จิตรกรรม และประติมากรรม “พระสังกัจจายน์” จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขสมหวังและความเป็นมงคลสำหรับใช้อวยพรให้แก่กันและกัน โดยถือปฏิบัติสืบมา

ดังนั้น เมื่อเห็นรูปเคารพพระสังกัจจายน์ ณ ที่ใด ผู้คนก็มักไปกราบบูชากันเป็นเนืองนิตย์ ด้วยเชื่อกันว่า ท่านจะบันดาลโชคลาภ ความร่ำรวย ความรุ่งเรือง ความอุดมสมบูรณ์ สติปัญญา และเสน่ห์เมตตามหานิยม บ้างนำไปบูชายังเคหสถาน ร้านค้า บริษัท หรือพกติดตัว เพื่อกิจการค้าขาย การเจรจา และการดำเนินธุรกิจ จะประสบความสำเร็จและเจริญรุ่งเรือง สืบมาถึงปัจจุบันยังมีการจัดสร้างรูปจำลอง “พระสังกัจจายน์” ในรูปแบบพระบูชา พระเครื่อง และสิ่งมงคลทางจีน มากมายครับผม

คาถาบูชาขอลาภพระสังกัจจายน์

ตั้งนะโม 3 จบ แล้วสวดพระคาถาก่อนขอพร ดังนี้

กัจจายะนะ มะหาเถโร เทวะตานะระ ปูชิโต โสระโห ปัจจะยาทิมหิ มะหาลาภัง ภะวันตุ เม

ลาเภนะ อุตะโมโหติ โสระโห ปัจจะยาทิมหิ มะหาลาภัง สัพพะลาภา สะทาโสตถิ ภะวันตุ เม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน