สะท้านวงการสงฆ์-คดีเงินทอนวัด บุกวัด-ล้อมค้นกุฏิ-คุมตัวเถระผู้ใหญ่

สะท้านวงการสงฆ์-คดีเงินทอนวัด บุกวัด-ล้อมค้นกุฏิ-คุมตัวเถระผู้ใหญ่ – สะเทือนวงการสงฆ์ไทย ในช่วงก่อนวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2561 พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เดินทางไปร้องทุกข์กล่าวโทษคดีทุจริตเงินทอนวัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ต่อกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สะท้านวงการสงฆ์-คดีเงินทอนวัด บุกวัด-ล้อมค้นกุฏิ-คุมตัวเถระผู้ใหญ่

พระพรหมสิทธิ

เป็นข้อหาการทุจริตเกี่ยวกับการทุจริตงบการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา แผนกธรรม และแผนกบาลี และงบเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีความเสียหายทั้งสิ้น 70 ล้านบาท

โดยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน บก.ปปป.ให้ดำเนินคดีกับพระชั้นผู้ใหญ่ 5 รูป ประกอบด้วย 1.พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธัมโม) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร 2.พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธัมมจารี) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม กรรมการมหาเถรฯ 3.พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรรมการมหาเถรฯ และเจ้าคณะภาค 10

4.พระเมธีสุทธิกร (สังคม ญาณวัฑฒโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ และ 5.พระราชวิจิตรธรรมาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ กระทำความผิดอาญาคดีทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม

นำมาซึ่งปฏิบัติการตรวจค้นวัดดังมีชื่อเสียงและจับกุมพระชั้นผู้ใหญ่ 3 รูป ซึ่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม

นำพระส่งฟ้องศาล

ช่วงเช้าวันที่ 24 พ.ค. พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผบก.ป. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม เข้าปิดล้อมวัดดังในกรุงเทพฯ อาทิ วัดสามพระยาวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 165 ซอยสามเสน 5 แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร ก่อนกระจาย กำลังเข้าตรวจค้นกุฏิพระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยา

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ได้กระจายกำลังอีกส่วนไปยังวัดสัมพันธวงศ์ วัดสระเกศฯ

การตรวจค้นวัดดังกล่าว ได้เก็บหลักฐานจำนวนหนึ่ง ก่อนนิมนต์ตัวเจ้าอาวาสทั้งหมดมาสอบสวนที่กองปราบปราม

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้นิมนต์พระพรหมดิลก ซึ่งถูกกล่าวหา ในคดีเงินทอนวัด, พระเมธีสุทธิกร (สังคม ญาณวัฑฒโน) และพระราชวิจิตรธรรมาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ในข้อหากระทำความผิดอาญาคดีทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษา โรงเรียนพระปริยัติธรรม อยู่ระหว่างนิมนต์ทั้งหมดมาสอบสวนที่กองปราบฯ

 

ส่วนพระพรหมสิทธิและพระพรหมเมธี หลบหนีไปก่อน

จากนั้น ตำรวจคุมตัวพระเถระชั้นผู้ใหญ่มา สอบสวนและส่งศาล โดยไม่ได้ประกันตัว ทำให้ถูกสึกและส่งเข้าเรือนจำ

ต่อมา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระบัญชาให้กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) พ้นจากตำแหน่ง 3 รูป คือ พระพรหมดิลก, พระพรหมเมธี และพระพรหมสิทธิ ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เสนอมา

วันที่ 30 พ.ค. พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก. ได้รับการประสานจากลูกศิษย์อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯว่าจะพาเข้ามอบตัว

ก่อนนำตัวพระพรหมสิทธิ ไปฝากขังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยคัดค้านการประกันตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ สำนักพุทธฯ และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ได้ถอดจีวรเพื่อเปลี่ยนเป็นชุดขาว ก่อนคุมตัวไปขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังจับกุมพระราชอุปเสณาภรณ์ (สังคม ญาณวัฑฒโน) อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหา วิหาร เพิ่มอีก 1 ในคดีฟอกเงินงบประมาณอุดหนุนวัด กองปราบฯ นำตัวส่งศาลฝากขังพร้อมค้านประกัน สุดท้ายศาลเห็นชอบ ต้องถูกจับสึกนุ่งขาวเข้าเรือนจำตามอดีตพระที่ถูกดำเนินคดีก่อนหน้านี้

ด้านพระพรหมเมธี ที่อยู่ระหว่างหลบหนี เจ้าหน้าที่เร่งตามล่าตัว หลังตรวจสอบพบเบาะแสผู้ต้องหาตามหมายจับไปปรากฏตัวอยู่ที่จังหวัดนครพนม ก่อนหายตัวไป เบื้องต้นคาดว่าน่าจะมีลูกศิษย์ใกล้ชิดให้ความช่วยเหลือเพื่อหลบหนีข้ามฝั่งไปยัง สปป.ลาว

ร้อนถึง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ. ตร. เร่งประสานตำรวจลาวให้จับตัวทันที แต่พระพรหมเมธีเกิดไหวตัวทัน จึงเดินทางไปยังกัมพูชา แล้วขึ้นเครื่องบินไปลงยังสนามบินแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เมื่อคืนวันที่ 2 มิ.ย.2561 ตามเวลาในไทย

อดีตพระพรหมเมธีเดินทางเข้าประเทศเยอรมนี มีเป้าหมายไปสำนักงานผู้อพยพและผู้ลี้ภัย เพื่อขอยื่นเรื่องเป็นผู้ลี้ภัย

เนื่องจากขั้นตอนดังกล่าว อดีตพระพรหมเมธี ได้ยื่นเรื่องขอลี้ภัยกับทางการเยอรมนีแล้ว ทำให้เรื่องการขอส่งตัวไม่เกี่ยวข้องกับตำรวจ แต่เป็นเรื่องที่อัยการและกระทรวงมหาดไทย ประเทศเยอรมนี จะเป็นฝ่ายพิจารณาว่าจะให้อดีตพระพรหมเมธีลี้ภัย หรือส่งตัวให้ตำรวจไทยนำตัวกลับมาดำเนินคดีในประเทศ

ทั้งนี้ สำนักพุทธฯ เดินหน้าตรวจสอบกรณีทุจริตมาตั้งแต่เดือน มิ.ย.2560 เมื่อกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เข้าตรวจสอบการทุจริตเงินอุดหนุนงบประมาณบูรณปฏิสังขรณ์วัด กว่า 60 ล้านบาท

ตรวจพบผู้เกี่ยวข้องเป็นข้าราชการระดับสูง ในสำนักพุทธฯ และพระเถระชั้นผู้ใหญ่หลายรูป โดยสรุปสำนวนส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และขยายผลเรื่องดังกล่าวด้วย

ภายหลังเจ้าหน้าที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) และกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ได้เข้าจับกุมคดีเงินทอนวัด ประกอบไปด้วยพระชั้นผู้ใหญ่และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมา

นอกจากนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด กรณีนายพนม ศรศิลป์อดีต ผอ.สำนักพุทธฯ กับพวก ทุจริต งบประมาณอุดหนุนบูรณะและปฏิสังขรณ์วัด ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พ.ศ.) มูลค่าหลายสิบล้านบาท

พร้อมส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชา พิจารณาโทษทางวินัย และส่งสำนวน-ความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาสั่งฟ้องต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน