เหรียญเจ้าสัว-พุทธมหาจักรพรรดิ
บูรณะเจดีย์ประธาน‘วัดนางนอง’
เหรียญเจ้าสัว-พุทธมหาจักรพรรดิ บูรณะเจดีย์ประธาน‘วัดนางนอง’ – “วัดนางนองวรวิหาร” ตั้งอยู่ถนนวุฒากาศ แขวงบางอ้อ เขตจอมทอง กรุงเทพฯ วัดเก่าแก่วัดหนึ่ง โดยเฉพาะเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่คับคั่งมาแต่โบราณ คือ คลองด่าน หรือคลองสนามชัย อยู่ริมคลองฝั่งใต้ตรงข้ามวัดหนัง
ไม่ปรากฏหลักฐานของการสร้าง แต่สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ประมาณสมัยสมเด็จพระศรี สรรเพ็ชญ์ที่ 8 (ขุนหลวงสรศักดิ์) ราวปี พ.ศ.2245-2252
ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.2375 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ทำเป็นงานใหญ่ รื้อของเก่า และปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม ดังปรากฏงานศิลป กรรมแบบพระราชนิยมในพระองค์ที่พระอุโบสถและพระวิหารคู่
ทั้งพระอุโบสถ พระวิหาร หรืออาคารสถาปัตยกรรมประเภทอื่น ถึงแม้จะสร้างขึ้นเลียนแบบจีนก็ตาม ทรงระมัดระวังที่จะรักษาลักษณะความเป็นไทยไว้ เช่น การซ้อนหลังคาในส่วนที่เด่นของอาคาร และมุงกระเบื้องตามลักษณะของไทย
การบูรณปฏิสังขรณ์ใช้เวลาหลายปีจึงแล้วเสร็จ ได้สถาปนาเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาพระอุโบสถเมื่อพุทธศักราช 2384
พระอุโบสถดังกล่าว เป็นศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 3 ตรงบานประตูด้านนอกประดับมุกทั้งบาน เขียนลวดลายงดงามมาก ส่วนด้านในเขียนลายรดน้ำ บานหน้าต่างเขียนภาพเรื่องในวรรณคดี ส่วนที่บานประตูและผนังด้านในเขียนเรื่องจีน เช่น สามก๊ก, ฮก ลก ซิ่ว
สำหรับพระพุทธรูปประธาน ประดิษฐานประจำพระอุโบสถวัดนางนองวรวิหาร กล่าวได้ว่ามีความงดงาม ติดอันดับพระพุทธรูปที่มีความสวยงามของเมืองไทยลำดับต้นๆ ทีเดียว
พระพุทธรูปองค์นี้ มีพระนามว่า “พระพุทธมหาจักรพรรดิ” พระพุทธมหาจักรพรรดิ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางมารวิชัย พระพักตร์พุทธศิลป์สมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง 2 เมตร 25 เซนติเมตร หรือประมาณ 4 ศอกครึ่ง เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องที่ทำเครื่องทรง เครื่องประดับตกแต่งทุกชิ้น แยกออกจากองค์พระสวมทับลงไว้ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ปั้นลายปิดทองประดับกระจก
ถือเป็นงานประติมากรรมชิ้นเอก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีความงามอย่างวิจิตรอลังการ ให้ความเลื่อมใส ศรัทธาแก่ผู้เข้ามาสักการะมีความอิ่มเอิบยึดมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างสงบเยือกเย็น
สำหรับมงกุฎทรงของพระพุทธมหาจักรพรรดิ มีประวัติว่า องค์ที่สวมอยู่นี้เป็นองค์ที่ 2 องค์แรกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนยอดนภศูล พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เมื่อครั้งทรงปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดอรุณฯ
เมื่อเดือน 12 พ.ศ.2390 มีหมายรับสั่งกำหนดวันยกยอดพระปรางค์ในเดือนอ้าย ครั้นใกล้วันพระฤกษ์ โปรดให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะเป็นพระประธานในวัดนางนองมาสวมต่อบนยอดนภศูล
เกี่ยวกับเรื่องให้ยืมมงกุฎพระประธานวัดนางนอง ไปสวมบนยอดนภศูลพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ ‘ความทรงจำ’ ตอนหนึ่งว่า “จะเป็นด้วยทรงพระราชดำริอย่างไร จึงทำเช่นนั้นหาได้ตรัสให้ใครทราบไม่และการที่เอามงกุฎขึ้นต่อบนยอดนภศูล ก็ไม่เคยมีแบบอย่างที่ไหนมาก่อน”
ทั้งนี้ พระพุทธมหาจักรพรรดิ เดิมไม่มีพระนาม แต่ได้มีการถวายพระนามในภายหลัง ด้วยพิจารณาว่าพุทธลักษณะแสดงถึงพระพุทธมหาจักรพรรดิทางธรรมนั่นเอง
ในโอกาสนี้ วัดนางนอง จัดสร้างเหรียญเจ้าสัว “พระพุทธมหาจักรพรรดิ วัดนางนอง” เพื่อสมทบทุนบูรณะพระเจดีย์ประธานวัดนางนอง สถาปัตยกรรมยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์
กำหนดประกอบพิธีพุทธาภิเษก วันที่ 8 มี.ค.2562 เวลา 17.09 น. โดยมี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปัญโญ) วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นประธานจุดเทียนชัย, พระพรหมมังคลาจารย์ (เจ้าคุณธงชัย) วัดไตรมิตรวิทยาราม ประธานดับเทียนชัย
พระสิรินันทมุนี เจ้าอาวาสวัดนางนอง ประธานดำเนินการสร้าง และ นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานเครือมติชน–ข่าวสด เป็นประธานอุปถัมภ์
รายการเหรียญที่เปิดให้จอง 1.เหรียญทองคำ (น้ำหนัก 4.6 กรัม) สร้างจำนวน 20 เหรียญ 2.เหรียญทองคำลงยาสีแดง สร้างจำนวน 20 เหรียญ 3.เหรียญทองคำลงยาสีเขียว สร้างจำนวน 20 เหรียญ 4.เหรียญทองคำลงยาสีน้ำเงิน สร้างจำนวน 20 เหรียญ 5.เหรียญเงิน สร้างจำนวน 200 เหรียญ
6.เหรียญเงินลงยาสีแดง สร้างจำนวน 200 เหรียญ 7.เหรียญเงินลงยาสีเขียว สร้างจำนวน 200 เหรียญ 8.เหรียญเงินลงยาสีน้ำเงิน สร้างจำนวน 200 เหรียญ 9.เหรียญทองมันปู สร้างจำนวน 15,000 เหรียญ 10.เหรียญทองแดง สร้างจำนวน 15,000 เหรียญ
ติดต่อสั่งจองได้ที่พระครูประกาศศาสนวงศ์ โทร.08-6607-9261 รับเหรียญวัตถุมงคลได้ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.2562 เป็นต้นไป