นมัสการพระบรมธาตุนาดูน

ชมฮูปแต้มโบราณสิมอีสาน

นมัสการพระบรมธาตุนาดูน – ในปี พ.ศ.2522 กรมศิลปากรและชาวบ้านตำบลนาดูน อ.นาดูน จ.มหา สารคาม ได้ขุดพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมพระพิมพ์ดินเผาจำนวนหนึ่ง บริเวณเนินดิน ซึ่งเป็นซากโบราณสถานบริเวณที่นาของราษฎรท้องที่หมู่ 1 ต.นาดูน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม

สำหรับพระบรมสารีริกธาตุที่พบมีสัณฐานเป็นเกล็ดขาวขุ่นเท่าเมล็ดข้าวสารหักครึ่งประดิษฐานในผอบ 3 ชั้น ชั้นในสุดเป็นทองคำ ชั้นกลาง เป็นเงินชั้นนอกเป็นสำริด สอดซ้อนกันเรียงตามลำดับและบรรจุอยู่ในสถูปจำลองอีกชั้นหนึ่งลักษณะเป็นโลหะทรงกลมสูง 24.4 ซ.ม. ถอดออกเป็น 2 ส่วน ส่วนยอดสูง 12.3 ซ.ม. ส่วนองค์สถูปสูง 12.1 ซ.ม.

หลังการค้นพบครั้งนั้น พุทธศาสนิกชนชาวมหาสารคามจึงเสนอเรื่องให้ทางราชการจัดสร้างพระบรมธาตุนาดูน เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

รูปแบบของพระบรมธาตุนาดูน ประยุกต์จากรูปทรงสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบ ซึ่งเป็นลักษณะของศิลปะทวาราวดีช่วงอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-16

พระบรมธาตุนาดูนมีความสูง 50.50 เมตร ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 35.70 เมตร สิ้นค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 7.5 ล้านบาทเศษ การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2530 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ ทรงประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานไว้ในองค์เจดีย์พระบรมธาตุนาดูน และคณะรัฐมนตรีได้มีการพิจารณาให้เป็นพุทธมณฑลอีสาน

นับแต่นั้นเป็นต้นมา องค์พระบรมธาตุนาดูนเป็นศูนย์รวมใจของพุทธศาสนิกชนชาวมหาสารคามและชาวอีสานสืบมา นอกจากนี้ ในพื้นที่ ต.ดงบัง ห่างจาก อ.นาดูน ไม่เกิน 10 ก.ม. ยังมีวัดที่สำคัญอยู่ 2 แห่ง ที่พุทธศาสนิกชนที่เข้ามาในพื้นที่ควรไปเที่ยวชมคือ วัดป่าเรไร และวัดโพธาราม

ความสำคัญของวัดทั้ง 2 แห่งคือ อุโบสถหรือที่ชาวอีสานเรียกว่า สิม จะมีภาพฮูปแต้ม หรือภาพจิตรกรรมฝาผนังปรากฏอยู่ทั้งในและภายนอกสิม เป็นภาพเขียนโบราณฝีมือบรรพชนชาวอีสานอายุกว่าร้อยปี

สำหรับภาพฮูปแต้มที่เขียนไว้ตามสิมอีสาน ด้านในมักเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา เช่น พุทธประวัติ พระเวสสันดรชาดก ส่วนภาพผนังด้านนอก มักจะเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นซึ่งจะมีข้อคิดคติสอนใจเช่น สินไซ พระมาลัย เป็นต้น

สิมวัดป่าเรไร ตามหลักฐานเป็นวัดที่เก่าแก่โบราณสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2224 และได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.2460 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมชื่อ วัดหนองพอก ในปี พ.ศ.2485 เปลี่ยนชื่อเป็นวัดป่าเรไร ตัวสิมเป็นแบบก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าทึบเป็นสิมศิลปะพื้นบ้านบริสุทธิ์มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สิมหลังนี้มีฮูปแต้มฝีมือการวาดที่งดงามมาก ปรากฏให้เห็นอยู่ทั้งด้านนอกและด้านในของสิม ด้านนอกเป็นเรื่องรามเกียรติ์และพระเวสสันดรชาดก ด้านในเป็นเรื่องพุทธประวัติ และพระมาลัย

 

นอกจากนี้ ช่างยังเขียนสอดแทรกวิถีชีวิตของชาวอีสานเข้าไปอีกด้วยสำหรับสิมวัดโพธาราม อยู่ห่างจากสิมวัดป่าเรไร ประมาณ 1 ก.ม. เส้นทางสะดวกถนนลาดยางเชื่อมถึงกัน เป็นวัดที่เก่าแก่สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2343 สำหรับสิมสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2451 มีการบูรณะซ่อมแซมหลังคาใหม่เนื่องจากของเดิมอยู่ในสภาพทรุดโทรมส่วนตัวสิมและฮูปแต้มยังคงสภาพไว้เหมือนเดิม สำหรับช่างที่เขียนภาพคือนายสิงห์ ที่เขียนภาพฝาผนังวัดป่าเรไรและอาจารย์ซาลาย เทคนิคการเขียนภาพของวัดนี้ใช้สีฝุ่น วรรณะเย็นได้แก่ สีฟ้า สีคราม สีเขียว และสีขาวเป็นหลัก ส่วนช่างที่ก่อสร้างก็เป็นกลุ่มเดียวกัน

 

ภายในสิมจะวาดเป็นเรื่องราวพุทธประวัติพระเวสสันดรชาดก และรามสูร เมขลา ส่วนด้านนอกเป็นเรื่องสินไซพระเวสสันดรพระมาลัย และแต่ละภาพจะมีอักษรธรรมบรรยายภาพประกอบ อีกทั้งยังวาดภาพสอดแทรกวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวอีสาน

ภาพฮูปแต้มฝีมือช่างพื้นเมืองอีสาน จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ การวาดภาพวิถีชีวิตของชาวอีสาน ซึ่งถือเป็นเรื่องราวใกล้ตัวสอดแทรกเข้าไป บางภาพจะสอดแทรกธรรมที่แสดงให้เห็นบาปบุญคุณโทษ ทำให้ผู้มาเที่ยวชมรุ่นหลังนอกจากจะได้ทราบเรื่องราวทางด้านพุทธศาสนา ยังได้ทราบเรื่องราวการดำรงชีวิตของคนอีสานในอดีต

ผู้ที่นมัสการองค์พระบรมธาตุนาดูนแล้ว ไม่ควรพลาดที่จะมาเที่ยวชมภาพฮูปแต้มหรือจิตรกรรมฝาผนังโบราณที่วัดทั้ง2 แห่งนี้

เชิด ขันตี ณ พล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน