พระพิมลธรรม (ชอบ) วัดราษฎร์บำรุง จ.ชลบุรี

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

พระพิมลธรรม(ชอบ) วัดราษฎร์บำรุง จ.ชลบุรี – วันจันทร์ที่ 23 มี.ค.2563 น้อมรำลึกครบรอบ 110 ปี ชาตกาล พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารี) อดีตเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ บำรุง, อดีตเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี และอดีตแม่กองธรรมสนามหลวง

ย้อนไปในปี พ.ศ.2519 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารี) เป็นราชบัณฑิต สาขาวรรณศิลป์

เป็นพระเถระรูปแรกในสังฆมณฑลที่ได้รับการยกย่องเช่นนี้

มีนามเดิม ชอบ ชมจันทร์ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มี.ค.2444 ที่บ้านหัวไผ่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี บิดาชื่อ นายชม มารดาชื่อ นางจันทร์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 6 คน และพี่น้องต่างมารดาอีก 6 คน

อายุ 8 ขวบ เรียนหนังสือไทยเบื้องต้นที่บ้านคุณยายช้อย แล้วไปต่อที่วัดพลับ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี สอบได้ชั้นมูล 3 และศึกษาจนจบชั้นสูงสุดจึงได้หยุดการเรียน

อายุ 14 ปี บรรพชาที่วัดพลับ โดยมีพระครูพนัสนิคม เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังบวชได้ 2 ปี คุณยายช้อยพาไปฝากเรียนบาลีที่วัดใต้ต้นลาน อ.พนัสนิคม โดยมีท่านอธิการกราน เป็นเจ้าอาวาสและเป็นผู้เริ่มเปิดบาลีขึ้นใน พ.ศ.2459 โดยอาราธนาพระครูอุดมธรรมวินัย (เงิน) วัดจักรวรรดิราชาวาส กทม. เป็นครูสอน

ได้เรียนบาลีมูลกัจจายนะ แต่ยังไม่ทันแปลคัมภีร์ครูก็ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวถนน อ.พนัสนิคม โรงเรียนปิดโดยปริยายจึงเดินทางไปเรียนบาลีต่อที่กรุงเทพฯ

พ.ศ.2461 ไปอยู่ที่วัดมหาธาตุ กทม. สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) สมัยยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระเทพโมลี ให้ไปอยู่คณะสลัก

เวลานั้นจำกัดอายุนักเรียนสอบธรรม ถ้าเป็นสามเณรต้องอายุ 19 ปี จึงจะสอบได้ และมีเรียนเพียงชั้นตรีกับชั้นโทเท่านั้นชั้นเอกยังไม่มี

เรียนพระปริยัติธรรม (แผนกนักธรรม) ควบคู่กันไป พ.ศ.2462 สอบได้นักธรรม ตรี พ.ศ.2463 สอบได้นักธรรมโท แต่ไม่ได้ต่อนักธรรมเอก เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีการเรียนการสอน จากนั้นก็เรียนบาลีไวยากรณ์ต่อ

พระพิมลธรรม(ชอบ) วัดราษฎร์บำรุง จ.ชลบุรี

เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดมหาธาตุ เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2465 สมเด็จพระวันรัต (เฮง) เมื่อ ดำรงสมณศักดิ์พระธรรมไตรโลกาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระศรีสมโพธิ (ช้อย ฐานทตฺโต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระญาณสมโพธิ (สวัสดิ์ กิติสาโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานามว่า อนุจารี

หลังอุปสมบท เป็นทั้งนักศึกษาและครูสอนบาลี กระทั่งสำเร็จเป็นเปรียญธรรม 6 ประโยค

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2489 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระชลธารมุนี พ.ศ.2492 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็น พระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสุธี

พ.ศ.2495 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธี พ.ศ.2499 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมโกศาจารย์

พ.ศ.2530 โปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏที่ “พระพิมลธรรม”

ท่านเป็นผู้บุกเบิกในด้านเผยแผ่ทั้งในและนอกประเทศ นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา และอำนวยการสร้างวัดไทยในอเมริกาหลายวัดจนเจริญรุ่งเรือง อาทิ ลอสแองเจลิส, นครเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด, รัฐยูทาห์, วาล์วเวก เนเธอร์แลนด์ และสร้างพระพุทธรูปประจำวัดลอสแองเจลิส, ไ วัดพุทธปทีปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้นำการสอบธรรมสนามหลวงไปเปิดในต่างประเทศ เช่น รัฐกลันตันและรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย

ยังมีตำแหน่งหน้าที่การงานสำคัญมากมาย อาทิ กรรมการชำระพระไตรปิฎกแปล, กรรมการตรวจบาลีสนามหลวง, กรรมการสังคายนาพระธรรมวินัย, เจ้าคณะจังหวัดชลบุรี, แม่กองธรรมสนามหลวง ถึงพ.ศ.2503, เจ้าคณะตรวจการณ์ภาค 9, งานตรวจประกวดหนังสือชิงรางวัลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯลฯ

ด้านเชิงกวีนิพนธ์ ประพันธ์บท คำกลอนในเชิงวรรณกรรมทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองในทางพุทธศาสนาไว้มากมาย รวมจำนวนมากกว่า 109 เรื่อง เช่น เทวธรรม (พ.ศ.2490) โอวาทสมเด็จ(พ.ศ.2497) ฯลฯ

รวมทั้งริเริ่มยกฐานะวันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

ทั้งนี้ ผลงานวรรณกรรมที่ได้รับพระราชทานรางวัล คือ เรื่อง วุฒิ 4 และ“จักร 4” และหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเรื่อง “ตระกูลอันมั่งคั่ง จะตั้งอยู่นานไม่ได้เพราะสถาน 4”

ปัจจุบันผลงานทั้งหมดถูกรวบรวมไว้ที่หอธรรมราชบัณฑิต วัดราษฎร์บำรุง จ.ชลบุรี และถูกนำไปใช้เป็นข้อคิด เตือนใจพิมพ์ไว้ในหนังสือที่ระลึกงานต่างๆ อย่างแพร่หลาย

สุดท้ายแห่งชีวิต อาพาธเรื้อรัง ก่อนละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2535 เวลา 13.40 น.

สิริอายุ 92 ปี พรรษา 70

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน