คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6 : ครบรอบ172ปี-ชาตกาล หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว

หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว – วันศุกร์ที่ 3 ก.ค.2563 น้อมรำลึกครบรอบ 172 ปี ชาตกาล หลวงปู่บุญ ขันธโชติ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม ยอดพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ผู้เข้มขลังทางวิทยาคม มีตบะสมาธิและวิถีแห่งญาณแก่กล้า

จนเป็นที่ยอมรับยกย่องของ พระคณาจารย์ร่วมยุคร่วมสมัยหลายรูป อาทิ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) แห่งวัดสุทัศนเทพวราราม, หลวงพ่อทับ วัดทอง (วัดสุวรรณาราม) บางกอกน้อย, หลวงปู่นาค วัดห้วยจรเข้ และอีกหลายรูป

เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 3 ก.ค.2391 ที่ ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เมื่อช่วงแรกเกิด ป่วยหนักจนไม่หายใจ ในที่สุดบิดามารดา เข้าใจว่าตายเสียแล้ว จึงเตรียมจะเอาไปฝัง แต่ปรากฏว่ายังไม่ทันที่จะได้ฝัง กลับฟื้นขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์ บิดามารดาได้ถือเอาเหตุนี้ตั้งชื่อให้แก่ท่านว่า “บุญ”

ช่วงวัยเยาว์ เมื่ออายุได้ 13 ปี บิดาถึงแก่กรรม ป้าจึงนำไปฝากให้ศึกษาเล่าเรียนอยู่กับ พระปลัดทอง ที่วัดกลาง ซึ่งในสมัยนั้นมีชื่อว่า วัดคงคาราม ต.ปากน้ำ (ปากคลองบางแก้ว) อ.นครชัยศรี

อายุ 15 ปีเต็ม พระปลัดทอง ประกอบพิธีบรรพชาให้ และได้อบรมสั่งสอนวิชาความรู้ต่างๆ แต่ด้วยมีความจำเป็นต้องลาสิกขา เพราะป่วยไข้เบียดเบียน

ต่อมามีโอกาสอุปสมบท เมื่ออายุ 22 ปี ที่พัทธสีมา วัดกลางบางแก้ว เมื่อวันจันทร์ที่ 21 มิ.ย.2412 โดยมี พระปลัดปาน เจ้าอาวาสวัดพิไทยทาราม (วัดตุ๊กตา) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ขนานนามฉายาให้ว่า “ขันธโชติ”

กล่าวกันว่า อาจารย์ของหลวงปู่บุญ มี 2 รูป คือ พระปลัดทองและพระอธิการปาน ที่มีบทบาทและความสำคัญอย่างมากในการถ่ายทอดสรรพวิชาต่างๆ

แต่ที่สำคัญ หลวงปู่บุญ มีชื่อเสียงในการจัดสร้างวัตถุมงคลเครื่องราง “เบี้ยแก้” ที่มีพุทธคุณป้องกันและแก้สิ่งชั่วร้ายเสนียดจัญไร คณาจารย์ยุคเก่าที่สร้างเครื่องรางประเภทเบี้ยแก้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด มีอยู่เพียง 2 รูปคือ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว และหลวงปู่รอด วัดนายโรง

แต่ข้อมูลประวัติการเล่าเรียนวิธีจัดสร้างเบี้ยแก้ของหลวงปู่บุญ กลับไม่เป็นที่ปรากฏแต่อย่างใด อาจเป็นไปได้ว่า หลวงปู่รอด เป็นอาจารย์ถ่ายทอดวิชาเบี้ยแก้ให้กับหลวงปู่บุญ ด้วยหลวงปู่รอดนั้น ท่านมีอายุในรุ่นหลังของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไม่มากนัก

ครบรอบ 172 ปี-ชาตกาล หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว : อริยะโลกที่ 6

หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว

ตามหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร ซึ่งกรมการศาสนาเป็นผู้จัดพิมพ์ ระบุว่า หลวงปู่รอด เป็นสมภารรูปแรกของวัดนายโรง ดังนั้นในกระบวนเบี้ยแก้ทั้งหมด เท่าที่พบเห็นกันอยู่ต้องถือว่า เบี้ยแก้ของหลวงปู่รอด วัดนายโรงเก่าแก่ที่สุด

ส่วนสาเหตุที่น่าเชื่อว่า หลวงปู่แขกกับหลวงปู่บุญ มีความสัมพันธ์กัน เพราะว่าพื้นเพเดิมของหลวงปู่แขก ท่านเป็นชาวนครชัยศรี เช่นเดียวกับหลวงปู่บุญ น่าจะเป็นไปได้ว่า หลวงปู่บุญ อาจจะไปมาหาสู่กับหลวงปู่แขก และได้มาทราบกิตติศัพท์และเกียรติคุณของหลวงปู่รอด วัดนายโรง เมื่อคราวมาเยี่ยมหลวงปู่แขก ที่วัดบางบำหรุ จึงได้ขอเรียนวิชาทำเบี้ยแก้กับหลวงปู่รอด

ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2429 หลวงปู่บุญ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอธิการปกครองวัดกลางบางแก้ว พ.ศ.2431 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พ.ศ.2433 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวด

พ.ศ.2459 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2459 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามว่า พระครูอุตรการบดี พ.ศ.2462 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นเอกพระครูพุทธวิถีนายก

พ.ศ.2471 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระพุทธวิถีนายก

เรื่องที่หลวงปู่บุญไม่ชอบ คือ ชาวบ้านที่ชอบนุ่งโสร่งเข้าวัด ท่านมักจะปรารภในเรื่องนี้ว่า “การแต่งกายเป็นเครื่องสอนนิสัยใจคอคน การเข้าวัดเข้าวาไม่ควรนุ่งโสร่งลอยชายมันไม่สุภาพ ควรนุ่งห่มให้เรียบร้อยสักหน่อยจะสมควร”

เมื่อล่วงรู้ไปถึงชาวบ้านละแวกนั้นเข้า ก็กลายเป็นข้อปฏิบัติที่ว่าต่อไป เมื่อใครจะเข้าวัดจะต้องแต่งกายให้เรียบร้อย โดยจะต้องไม่นุ่งโสร่งเป็นอันขาด

มรณภาพ เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2478 เวลา 10.45 น.

สิริอายุ 89 พรรษา 67

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน