พระหูยานเนื้อชินสนิมแดง – สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน พระหูยานเป็นพระเนื้อชินยอดนิยม และมีอยู่หลายกรุหลายจังหวัด หลายยุค แต่โดยส่วนใหญ่จะเป็นพระเนื้อชินเงิน ทุกกรุ แต่ก็มีอยู่กรุเดียวที่เป็นเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง คือกรุสมอพลือ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นพระที่หายากมีจำนวนน้อยมาก

เมืองเพชร มีการพบหลักฐานการเป็นชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์แถบภูเขา ทางด้านตะวันตก เขตอำเภอท่ายาง ต่อมาในสมัยทวารวดีก็ยังพบหลักฐานการเป็น ที่ตั้งชุมชนในหลายพื้นที่ เช่นที่หนองปรง เขตอำเภอเขาย้อย กลุ่มบ้านหนองพระ กลุ่มบ้านลาด กลุ่มเขากระจิว เป็นต้น มีการพบธรรมจักรหินฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเพชร แต่จากการสำรวจทางอากาศกลับไม่พบแนวคันคูเมืองแบบทวารวดีเลย ซึ่งคันคูเมืองแบบทวารวดีมักนิยมทำเป็นรูปแบบวงรีๆ คล้ายรูปเปลือกหอยกาบ สันนิษฐานว่าคงเป็นแค่แหล่งชุมชนเท่านั้น

ในสมัยที่ขอม (เขมร โบราณ) เรืองอำนาจ ชุมชนในแถบลุ่มแม่น้ำเพชรก็ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมของขอมเข้ามา และมีการสร้างเมือง โดยการสำรวจทางอากาศพบผังแนวคันคูเมืองรูปสี่เหลี่ยมค่อนข้างจะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเพชร ซึ่งเริ่มนิยมสร้างในสมัยขอม อิทธิพลวัฒนธรรมขอมยังคงมีพบโบราณสถานที่วัดกำแพงแลง ซึ่งเป็นพระปรางค์ศิลาแลง 5 องค์ สถาปัตยกรรมและรูปเคารพที่พบจากบริเวณนี้เป็นอิทธิพลศิลปะขอมแบบบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 สันนิษฐานว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงประดิษฐานพระชัยพุทธมหานาถไว้ ตามศิลาจารึกที่พบในนครธม และกล่าวถึงว่าคือ เมืองศรีชัยวัชรบุรี

หลักศิลาจารึกสมัยกรุงสุโขทัยก็ยังกล่าวถึงเมืองเพชรบุรีด้วย และมีการขุดพบเครื่องถ้วยเคลือบจีน สมัยราชวงศ์สุ้งเป็นจำนวนมาก ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18-19 และเมืองเพชรก็น่าจะเป็นเมืองท่าเมืองหนึ่งในสมัยกรุงสุโขทัย และเป็นเมืองหน้าด่านและเมืองท่าต่อมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา

จากหลักฐานต่างๆ ที่พบนั้น ก็ยังมีการขุดพบพระเครื่อง ที่เป็นศิลปะขอมแบบบายน อีกหลายแห่ง เช่น ที่กรุสมอพลือ กรุเสมา สามชั้นและกรุวัดค้างคาว เป็นต้น พระเครื่องที่พบเป็นพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ทั้งหมดและพระของทั้งสามกรุก็เป็นพระ ที่นิยมกันมาก แต่ก็ค่อนข้างหายาก เนื่องจากพระที่พบสมบูรณ์ๆ มีจำนวนน้อยมาก ซึ่งพระส่วนใหญ่จะชำรุดเสียตั้งแต่ ในกรุ พระเครื่องของกรุสมอพลือ พระที่พบเป็นพระเครื่องแบบพระหูยาน มีส่วนคล้ายกับพระหูยานลพบุรีมาก แต่เป็นเนื้อชินสนิมแดง และก็เป็นเพียงกรุเดียวเท่านั้น ที่พบพระหูยานเป็นเนื้อชินสนิมแดง รายละเอียดของพิมพ์พระหูยานของกรุ สมอพลือ แตกต่างกันกับพระหูยานลพบุรี ที่สังเกตง่ายๆ ก็คือพระเกศของกรุสมอพลือจะเป็นเส้นวนรอบสามชั้นแบบผมมวย เส้นสังฆาฏิก็จะเล็กสั้น บางองค์ที่ชัดๆ ก็จะพอสังเกตเห็นว่ายาวพาดมาแค่เหนือพระถันเท่านั้น ไม่ยาวลงมาถึงท้องแบบพระหูยานลพบุรี ขนาดของพระหูยานกรุสมอพลือ จะเล็กกว่าของลพบุรี

พระหูยานกรุสมอพลือเป็นพระที่หายากมาก ว่ากันว่าพระที่สมบูรณ์ขึ้นจากกรุจำนวนหลักสิบเท่านั้นครับ พุทธคุณเด่นทางด้านอยู่คงและแคล้วคลาดแบบเดียว กับของลพบุรี

วันนี้ผมนำรูปพระหูยานกรุสมอพลือจากหนังสือ อมตพระกรุ อันล้ำค่าของไทยมาให้ชมกันครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน