พระพรหมเสนาบดี ราชทินนามใหม่ ตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ.2557 คราวที่พระธรรมคุณาภรณ์ วัดปทุมคงคา รองเจ้าคณะภาค 7 ได้รับสถาปนาเป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่ “พระพรหมเสนาบดี”

ผู้ที่ได้รับยกย่องในราชทินนามนี้ เสมือนเสนาบดีแห่งกองทัพธรรม คำว่าเสนาบดี แปลว่า แม่ทัพ

ราชทินนามนี้ มาจาก “พระธรรมเสนานี” เนื่องเพราะว่าราชทินนามนี้ มีใช้มาช้านาน ต่างแต่ ชื่อท้ายราชทินนาม

คำว่า เสนาบดี มีนัยยะสำคัญ คือ ผู้เป็นใหญ่แห่งกองทัพ

ส่วนคำว่า เสนานี มีความหมายคือ ผู้นำกองทัพ ในที่นี้หมายถึง ผู้นำหรือผู้เป็นใหญ่แห่งกองทัพธรรม

เฉกเช่นบัดนี้ พระพรหมเสนาบดี (พิมพ์ ญาณวีโร) เปรียญธรรม 7 ประโยค เจ้าคณะภาค 7 เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ที่ได้รับการสถาปนา เมื่อปีพ.ศ.2557 ที่ผ่านมา

วาระแห่งการดำรงสมณศักดิ์นี้ มีนัยยะจริยาวัตรปฏิบัติที่งดงามตามสมณสารูปอย่างถ่องแท้

และโอกาสสำคัญที่จะถึงนี้ ในวันอาทิตย์ 17 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นวันคล้ายวันเกิดของพระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณ พระพรหมเสนาบดี พระมหาเถระนักปกครอง ท่านเป็นเจ้าคณะภาค 7 ดูแลรับผิดชอบใน 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน สนองงานเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ดูแลเจือจานสานต่อ ในบทบาทที่ต่อยอดสร้างสรรค์ จรรโลงคณะสงฆ์ไทยในหลายมิติ ในมุมกว้างอย่างเป็นรูปธรรม

ล่าสุดท่านโดดเด่น ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หมู่บ้านรักษาศีล 5

บัดนี้ท่านเจริญอายุวัฒนมงคลครบรอบ 72 ปี ด้วยความปลาบปลื้มยินดีแก่พุทธบริษัท ที่เคยได้รับความเมตตาจากท่าน ทั้งทางตรงและทางอ้อม มาโดยตลอดแล้วไซร์

นับเป็นมงคลโอกาส ที่คณะสงฆ์ ญาติโยมพุทธศาสนิกชน ต่างพร้อมใจแสดงตนมุทิตาสักการะ แสดงความกตัญญูกตเวที พร้อมใจกันจัดงานมงคลทำบุญใหญ่ ถวายแด่ท่านในวันศุกร์ที่ 15 กันยายน และวันเสาร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ.2560

กล่าวสำหรับอัตตะโนประวัติ พระพรหมเสนาบดี ท่านมีนามเดิมว่า พิมพ์ บุญรัตนาภรณ์ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488 ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีระกา ที่บ้านเลขที่ 106 หมู่ที่ 3 ตำบลโรงเข้ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร บิดาชื่อนายบุญ บุญรัตนาภรณ์ มารดาชื่อนางสวย บุญรัตนาภรณ์

พระพรหมเสนาบดี อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2509 ตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 8-8 ปีมะเมีย ณ วัดนาสาร ตำบลนาสาร อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีพระเทพรัตนกวี (เกตุ ธมฺมวโร) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี วัดไตรธรรมาราม อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพระอุปัชฌาย์

พระครูโสภิตคุณานันท์ อดีตเจ้าคณะอำเภอบ้านนาสาร วัดนาสาร อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูพิศาลคุณาภรณ์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอบ้านนาสาร วัดอภัยเขตตาราม อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ญาณวีโร” หมายถึง ผู้แกล้วกล้าด้วยญาณความรู้

พ.ศ. 2500 สำเร็จประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบางห้าตำลึง (สายบุญเรืองราษฎร์รังสรรค์) อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม พ.ศ. 2512 สอบได้นักธรรมชั้นเอก วัดคลองวาฬ สำนักเรียนคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

พ.ศ. 2520 สำเร็จปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยนาลันทา ประเทศอินเดีย พ.ศ. 2522 สำเร็จปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยมคธ ประเทศอินเดีย พ.ศ. 2532 สอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค สำนักเรียนวัดปทุมคงคา กรุงเทพมหานคร

มีความชำนาญพิมพ์ดีดไฟฟ้าภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์โปรแกรมสำเร็จรูป เป็นผู้ออกแบบโปรแกรมสมณศักดิ์ที่คณะสงฆ์ใช้หาข้อมูลในการพิจารณาสมณศักดิ์ในปัจจุบันนี้

พระพรหมเสนาบดีท่านเป็นผู้ทรงจำพระปาฏิโมกข์และสวดพระปาฏิโมกข์ประจำ

ด้านงานปกครอง เป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2536

เป็นพระอุปัชฌาย์ วิสามัญ เป็นเจ้าคณะเขตสัมพันธวงศ์ เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดปทุมคงคา เป็นรองเจ้าคณะภาค 7 เป็นเจ้าคณะภาค 7 เมื่อ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

พระพรหมเสนาบดี ท่านสร้างคุณูปการแด่คณะสงฆ์อย่างมากมาย โดยเฉพาะงานด้านการศึกษา ท่านเป็นเจ้าสำนักเรียนวัดปทุมคงคา จัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกบาลีนักธรรม และธรรมศึกษาตรี โท เอก จัดนิตยภัตถวายครูสอนบาลี นักธรรม ธรรมศึกษา ครูสอนศีลธรรม ประจำวัดปทุมคงคาตลอดปี จัดอุปกรณ์การเรียน การสอน ทั้งคอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร และมอบรางวัลแก่นักเรียนผู้สอบบาลี นักธรรมได้ในสนามหลวงเป็นประจำทุกปี

นับตั้งแต่เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดปทุมคงคา พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา มีนักเรียนบาลีสอบได้ เปรียญธรรม 9 ประโยค จำนวน 9 รูป

จัดสอนธรรมศึกษาโรงเรียนวัดปทุมคงคา โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ โรงเรียนปทุมคงคา (เอกมัย) และโรงเรียนศึกษานารีวิทยา บางเขน

ด้านเกียรติคุณ พ.ศ. 2531 ได้รับรางวัลเสาเสมาธรรมจักร ด้านเผยแพร่หลักธรรม พ.ศ. 2554 ได้รับถวายรางวัลพุทธคุณูปการ ประเภท กาญจนเกียรติคุณ พ.ศ. 2554 ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาจัดการเชิงพุทธ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ด้านสมณศักดิ์ พ.ศ. 2530 เป็นพระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ที่ พระครูศรีปริยัติยาภรณ์ พ.ศ. 2532 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสุธีปริยัตยาภรณ์ พ.ศ. 2537 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชรัตนดิลก ตรีปิฎกวราลงกรณ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พ.ศ. 2545 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพรัตนสุธี ศรีธรรมสาธก ตรีปิฎกวราลงกรณ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พ.ศ. 2553 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมคุณาภรณ์ บวรศีลสมาจารวินิฐ วรกิจจานุกิจดิลก ตรีปิฎกวราลงกรณ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พ.ศ. 2557 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระพรหมเสนาบดี ศรีสังฆโสภณ วิมลศีลาจาร ศาสนภารธุราทร ตรีปิฎกวราลงกรณ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

อย่างไรก็ตาม พระพรหมเสนาบดี ท่านได้สนองงาน ท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ที่ท่านได้ทำให้เกิดโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เพื่อมีส่วนในการช่วยรัฐบาลในการสร้างความปรองดอง สามัคคีสมานฉันท์

ซึ่งพระพรหมเสนาบดี(พิมพ์ ญาณวีโร) เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา เจ้าคณะภาค 7 ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ท่านได้ติดตามผลการดำเนินงานหมู่บ้านรักษาศีล 5 ระยะที่ 3 ปีพ.ศ. 2560 ของทุกจังหวัด

การดำเนินโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ของคณะสงฆ์ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ถือว่า มีความก้าวหน้าไปได้ด้วยดี นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 ถึงปีพ.ศ. 2560 พบว่า สถิติเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายและคดีฆ่าคนตายลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการริเริ่มโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5

จากสถิติทำให้เห็นว่า โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ได้เกิดผลสำฤทธิ์ต่อสังคม โดยเฉพาะการลดปัญหาอาชญากรรม สร้างคนดีให้สังคมมากขึ้น ที่สำคัญสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ได้เน้นย้ำให้ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและส่งเสริมกิจกรรมสร้างความสามัคคีสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศด้วย โดยได้บรรจุโครงการดังกล่าวไว้ในแผนยุทธศาสตร์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 20 ปีด้วย อย่างไรก็ตามในวันที่ 17-19 กันยายน 2560 จะมีการจัดมหกรรมหมู่บ้านศีล 5 ต้นแบบระดับอำเภอจากทั่วประเทศที่วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม เพื่อเป็นตัวอย่างให้หมู่บ้านอื่นๆได้เรียนรู้ต่อไปด้วย

จึงนับได้ว่า โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ส่วนหนึ่งเป็นผลงานของ พระพรหมเสนาบดี ในฐานะพระมหาเถระ ผู้มีความมุ่งมั่น แม้ล่วงเข้าส่ำวัย 72 ปีแล้วไซร์ แต่ท่านก็ดำรงขันติธรรม และเมตตาธรรมมาโดยตลอด ด้วยวาจาที่ท่านลั่นไว้ว่า “ทุกข์ของชาวบ้าน คือทุกข์ของพระศาสนา” มีนัยยะสัจจะธรรมแฝงไว้อย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน