หลวงปู่แพง ฐานวโร พระเกจิดังเมืองอุบล : มงคลข่าวสด

“หลวงปู่แพง ฐานวโร” แห่งวัดเหล่าผักหอม ต.สงยาง อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี เป็นพระเกจิชื่อดังอีกรูปแห่งเมืองอุบล มีวัตรปฏิบัติดี เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม เป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจ พุทธศาสนิกชนทั่วไปให้ความเลื่อมใสศรัทธา

เป็นศิษย์สืบสายธรรมสมเด็จลุน แห่งนครจำปาศักดิ์ สปป.ลาวด้วย

ปัจจุบันยังดำรงชีวิตอยู่ในวัย 96 ปี

มีนามเดิมว่า แพง สารีชุม เกิดเมื่อวันอังคารที่ 4 พ.ค.2468 ปีขาล พื้นเพเป็นชาว ต.ตะบ่าย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี บิดา-มารดาชื่อ นายนอ และนางพา สารีชุม เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้อง 2 คน ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา

เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ช่วงวัยเยาว์มีจิตใจใฝ่ธรรมะ ชอบเข้าวัดฟังธรรม เพื่อร่ำเรียนวิชาอาคมและอักษรธรรมโบราณ

พ.ศ.2485 ขณะอายุ 17 ปี เข้าบรรพชา ร่ำเรียนวิทยาคมกับพระจันลา จันโท วัดศรีมงคลใต้ (บ้านไร่) ต.ตะบ่าย อ.ศรีเมืองใหม่ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ขณะนั้น โดยพระจันลา ศึกษาวิทยาคมจากสมเด็จลุนแห่งจำปาศักดิ์

หลังร่ำเรียนวิชาอาคมจากพระอุปัชฌาย์นาน 5 ปี อายุ 22 ปี จึงได้เข้าพิธีอุปสมบท แต่ผ่านไปเพียง 1 พรรษา ผู้เป็นบิดาป่วยต้องลาสิกขา คอยดูแลมารดา เนื่องจากเป็นบุตรคนโตต้องรับภาระ เป็นเสาหลักทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว

พ.ศ.2516 ขณะอายุ 48 ปี ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านตะบ่าย หมู่ 2
กระทั่งอายุ 60 ปีจึงเกษียณจากตำแหน่งดังกล่าวในปี พ.ศ.2528 รวมระยะเวลานาน 12 ปี

ห้วงที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้นำพาความเจริญให้กับหมู่บ้าน ลูกบ้านล้วนแต่ให้ความเคารพนับถือ ด้วยเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีกับชาวบ้าน ช่วยเหลือและเอาใจใส่ บำบัดทุกข์บำรุงสุขชาวบ้านเป็นอย่างดี

ขณะอายุ 83 ปี วันที่ 17 ก.ค.2551 เข้าพิธีอุปสมบทอีกครั้ง ที่วัดศรีมงคล (บ้านไร่) ต.ตะบ่าย อ.ศรีเมืองใหม่ มีพระครูภัทรคุโณภาส เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูไชยมงคลสาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระสมจิตต์ สีลสุทโธ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ได้รับฉายา ฐานวโร แปลว่า ผู้มีฐานะอันประเสริฐ

อยู่จำพรรษาที่วัดศรีมงคล (บ้านไร่) ต.ตะบ่าย อ.ศรีเมืองใหม่ ร่ำเรียนวิทยาคม อาทิ เมตตามหานิยมต่อเส้นวาสนา กับหลวงปู่ปัญญา ปัญญาธโร วัดหนองผักหนามราษฎร์บำรุง จ.ชลบุรี พระเกจิชื่อดัง

หลังจากหลวงปู่ปัญญาซึ่งเป็นอาจารย์ละสังขาร จึงย้ายมาจำพรรษาที่วัดเหล่าผักหอม ต.ตะบ่าย อ.ศรีเมืองใหม่ อยู่ช่วยชาวบ้านพัฒนาวัดแห่งนี้ สร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุเจริญรุ่งเรืองสืบมาจนปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมีความเชี่ยวชาญในการจักสานไม้ไผ่ เช่น กระบุง สุ่มไก่ เพื่อใส่ขยะและเศษใบไม้ภายในวัด ยิ่งทำให้ชาวบ้านมีความเลื่อมใสศรัทธา

ด้านวัตถุมงคล ลูกศิษย์จัดสร้างเหรียญรุ่นแรก ได้รับความนิยม จนกลายเป็นวัตถุมงคลหายากในระยะเวลาอันรวดเร็ว

แม้เข้าสู่ช่วงปัจฉิมวัยไม้ใกล้ฝั่ง ยังทำวัตรสวดมนต์มิได้ขาด ยังรับกิจนิมนต์ หูได้ยินชัด อ่านออกเขียนได้ ท่องสวดมนต์และเสกวัตถุมงคลได้อย่างคล่องแคล่ว

ด้วยความเป็นพระสงฆ์ที่มีความเมตตา เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา

มักจะเทศนาเตือนใจญาติโยม อาศัยหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนา ทำให้พุทธศาสนิกชนมีจิตใจสงบร่มเย็นเป็นสุข ด้วยเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจแห่งความศรัทธามั่นด้วยคุณงามความดี กอปรกับความตั้งมั่นในจริยวัตรอันงดงาม

สำหรับวัดเหล่าผักหอม เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2560 มีเพียงแค่ศาลาการเปรียญ ยังไม่มีอุโบสถ ดังนั้น คณะลูกศิษย์จัดสร้างวัตถุมงคลเพื่อนำเงินรายได้สมทบเทลานคอนกรีตในส่วนที่เหลือไปจัดสร้างศาลาพักสงฆ์ ไว้รองรับพระสงฆ์ที่มาพักในวัด

แม้จะย่างสู่ปัจฉิมวัยแล้ว แต่ยังอุทิศตัวเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างมุ่งมั่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน