แม่กลอง หรือจังหวัดสมุทรสงคราม ดินแดนพระเกจิชื่อดังหลายรูป อาทิ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม, หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ, หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี, หลวงพ่อหยอด วัดแก้วเจริญ ฯลฯ

พระเกจิอาจารย์ที่กล่าวนามมาแล้วนั้น ล้วนแต่มรณภาพละสังขารไปแล้วทั้งสิ้น

แต่ในปัจจุบัน ยังมีพระเถราจารย์ที่มากไปด้วยความรู้ ความสามารถและสืบทอดสรรพวิชาอาคม เป็นเพชรน้ำเอกแห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง

พระภาวนาวิสุทธิโสภณ วิ. หรือ “หลวงพ่อพระมหาสุรศักดิ์ อติสักโข” เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม และเจ้าอาวาสวัดประดู่ พระอารามหลวง ต.วัดประดู่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม สิริอายุ 60 ปี พรรษา 39

มีนามเดิมว่า ปอย อยู่กำเนิด เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 ก.ค.2504 เดือน 8 ปีฉลู ที่บ้านบางสะใภ้ ต.นางตะเคียน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม บิดา-มารดา ชื่อ นายประสิทธิ์และนางบุญเรือง อยู่กำเนิด มีพี่น้องร่วมครรภ์มารดา 5 คน เป็นบุตรคนที่ 3

ครอบครัวย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่อำเภออัมพวา ซึ่งเป็นบ้านของพ่อ และเข้าเรียนฝึกเขียนอ่านถึง 3 ที่ คือ โรงเรียนวัดช่องลม โรงเรียนวัดประดู่ และจบชั้น ป.7 ที่โรงเรียนวัดใหญ่สามัคคี

บรรพชา วันที่ 12 มี.ค.2519 ที่วัดปัจจันตาราม จ.สมุทรสาคร มีพระครูสมุทรธรรมสุนทร (หลวงพ่อสุด) วัดกาหลง เป็นพระอุปัชฌาย์

ต่อมา เข้าพิธีอุปสมบท วันที่ 10 ก.ค.2526 ที่วัดปัจจันตาราม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร มีสมเด็จพระธีรญาณมุนี (สนิธ เขมจารี) วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร กรุงเทพฯ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสาครสุทธิคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดปัจจันตาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูนิพัทธิ์วรการ (เพี้ยน สุวัณณปทุโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดประดู่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับนามฉายา อติสักโข

ตั้งใจเรียนศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างมุ่งมั่น พ.ศ.2521 สอบนักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ ที่สำนักเรียนวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร กรุงเทพฯ

พ.ศ.2529 สอบไล่ได้เปรียญธรรม 5 ประโยค ที่สำนักเรียนเดียวกัน

มีความชำนาญเรื่องแสดงพระธรรมเทศนา โหราศาสตร์ ออกแบบการก่อสร้าง ต่อมา พ.ศ.2533 ชาวบ้านอัมพวา กราบนมัสการนิมนต์มาจำพรรษารักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดประดู่ พ.ศ.2534 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดประดู่ พ.ศ.2547 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์และเลื่อนตำแหน่งมาโดยตลอด

พ.ศ.2554 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ในราชทินนามที่ พระครูพิศาลจริยาภิรม

นอกจากนี้ ยังเป็นพระนักพัฒนา ฝึกอบรมเยาวชนในชุมชนให้เป็นยุวมัคคุเทศก์ พาผู้มีจิตศรัทธาเข้าชม “พิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5” ภายในวัดประดู่

พร้อมกันนี้ยังได้สนับสนุนให้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมการทำหัวโขน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกทำหัวโขนและเศียรครูต่างๆ มีการศึกษาเรียนรู้และสาธิตโดยไม่มีการหวงวิชาแต่อย่างใด

เป็นผู้วางรูปแบบในการพัฒนาวัดให้เกิดความสะอาด สงบ ร่มรื่น และเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชน อันเป็นแนวทางให้โครงการ “วัดเป็นศูนย์กลางชุมชน” จึงมีนักเรียน นักศึกษา รวมถึงผู้มีจิตศรัทธาแวะเวียนเข้าไปเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมและกราบนมัสการสนทนาธรรมกับท่านอย่างไม่ขาดสาย

เป็นพระเกจิที่มีชื่อเสียง ระดับต้นของประเทศ เป็นศิษย์สายหลวงปู่แจ้ง สายวัดกลางบางแก้ว หลวงปู่เจือ หลวงพ่อหยอด เป็นต้น และศึกษาวิชากับอาจารย์ฆราวาสที่มีชื่อเสียงอีกหลายท่าน

วัตถุมงคลที่จัดสร้างได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีผู้ที่นำไปใช้และบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล

ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2541 เป็นเจ้าคณะตำบลเหมืองใหม่ เขต 1 พ.ศ.2547 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2551 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประดู่ พระอารามหลวง พ.ศ.2551 เป็นเจ้าคณะตำบลวัดประดู่

พ.ศ.2553 เป็นเจ้าอาวาสวัดประดู่ พระอารามหลวง พ.ศ.2560 เป็นเจ้าคณะอำเภออัมพวา

พ.ศ.2562 เป็นเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2552 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอกที่ พระครูพิศาลจริยาภิรม พ.ศ.2554 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

วันที่ 5 ธ.ค.2559 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระภาวนาวิสุทธิโสภณ

สร้างความปีติยินดีแก่คณะศิษยานุศิษย์และชาวแม่กลองถ้วนหน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน