พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแดนอีสานใต้ ที่รู้จักชื่อเสียงกิตติศัพท์เป็นอย่างดี “หลวงปู่เหลือง ฉันทาคโม” หรือ “พระเทพมงคลวัชราจารย์”

เป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ศิษย์อาวุโสอีกรูปของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดถ้ำขาม จ.สกลนคร และพ่อท่านสี ธัมมธโร วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ

ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกระดึงทอง อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ และที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์ (ธรรมยุต)

มีนามเดิมว่า เหลือง ทรงแก้ว เกิดในยามใกล้รุ่งของวันอังคารที่ 1 พ.ค.2470 ที่บ้านนาตัง หมู่ที่ 2 ต.เขวาสินรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์

หลังเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ขณะอายุ 15 ปี ออกจากบ้านเดินตามรับใช้พระพี่ชายทั้งสอง คือ พระสมุห์ฉัตร ธัมมปาโล และพระสมุห์เสร็จ ญาณวุฑโฒ ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม

ปลีกวิเวกจากสุรินทร์ไปถึงนครราชสีมา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ได้มีโอกาสพบครูบาอาจารย์หลายรูป อาทิ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล และพ่อท่านลี ธัมมธโร เป็นต้น

เข้าไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร และบรรพชาที่วัดสุทธจินดา จ.นครราชสีมา มีพระโพธิวงศาจารย์ (สังข์ทอง นาควโร) เป็นพระอุปัชฌาย์

ต่อมา อายุครบ 20 ปี จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดสุทธจินดา มีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธัมมธโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระญาณดิลก เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาเขียน ฐิตลีโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูสมุห์ฉัตร ธัมมปาโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์

อยู่จำพรรษาที่วัดป่าศรัทธารวม ทั้งปฏิบัติและเรียนนักธรรมไปพร้อมกัน พ.ศ.2490 สอบได้นักธรรมชั้นเอก

ปีต่อมา ย้ายไปอยู่วัดป่าศรัทธาราม สวดปาติโมกข์ และช่วยสอนนักธรรมที่อยู่วัดศาลาทอง ตามวาระที่มอบให้จนตลอดพรรษา ก่อนไปพำนักอยู่ที่วัดป่าสาละวัน ใกล้ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา พระอริยเวที วัดสุทธจินดา พาไปจำพรรษาที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดอยู่เป็นเวลา 8 ปีเต็ม

ครั้งหนึ่ง ไปช่วยสวดปาติโมกข์และสอนนักธรรมที่วัดป่าสักกวัน อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ก่อนย้ายกลับมาอยู่จำพรรษาที่วัดรังสีปาลิวัน บ้านโพน เพื่อตั้งใจฝึกปฏิบัติและคอยช่วยสอนนักธรรม พร้อมกับอบรมทายก-ทายิกาเกือบทุกวันในพรรษา

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2515 เป็นเจ้าอาวาสวัดกระดึงทอง พ.ศ.2519 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2521 เป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองบุรีรัมย์ (ธ) พ.ศ.2523 เป็นเจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์ (ธ)

พ.ศ.2550 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์ (ธ)

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2527 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระชินวงศาจารย์ วันที่ 12 ส.ค.2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชปัญญาวิสารัท

ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2564 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพมงคลวัชราจารย์

หลังได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดกระดึงทอง พัฒนาวัดให้เป็นศูนย์รวมของชาวบ้าน ด้วยในบริเวณวัดเป็นป่า ส่วนใหญ่มีต้นไม้ใหญ่ จึงพยายามรักษาไว้และปลูกเพิ่มทุกปี จนวัดดูร่มรื่นน่าอยู่ มีสัตว์น้อยใหญ่อาศัยอยู่

ขณะเดียวกัน ได้นำพระภิกษุ-สามเณร ตลอดจนถึงประชาชนชาวบ้านพัฒนาวัดวาอาราม จนมีศาลาอเนกประสงค์ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ อุโบสถ เมรุเผาศพ และศาลาบำเพ็ญกุศล

นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งสำนักงานเจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์และศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ วัดกระดึงทอง ยังใช้เป็นสถานที่สอนธรรมสนามหลวง และเป็นที่ประชุมพระสังฆาธิการประจำจังหวัด

ด้านการสร้างวัตถุมงคล ไม่ได้จัดสร้างบ่อยนัก นานครั้งในวาระพิเศษจึงจะมีการจัดสร้างครั้งหนึ่ง เน้นคำสอนให้ลูกศิษย์นำไปปฏิบัติมากกว่า แต่จะอนุญาตให้ศิษย์ใกล้ชิดสร้างขึ้นเป็นพิเศษ ทำให้วัตถุมงคลมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็ได้รับความนิยม

อุปนิสัยส่วนตัวสมถะ เรียบง่าย รักสันโดษ ชอบอยู่ตามป่าเขา เป็นพระที่มีภูมิธรรมสูง ประกอบกับมีปฏิปทาอันแน่วแน่ที่จะดำรงบวรพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองในภาคอีสาน

ด้วยมีจิตใจตั้งมั่น ปฏิบัติธรรมตามแนวทางแห่งองศ์พระศาสนา

ละสังขารอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อเวลา 02.45 น. วันที่ 10 ม.ค.2566 ที่โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์

สิริอายุ 95 ปี พรรษา 75

ยังความเศร้าสลดและอาลัยเป็นอย่างยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน