ย้อนไปเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดสถาปนา พระธรรมวราภรณ์ ขึ้นเป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมวชิรสุนทร บวรศาสนกิจจานุกูล วิบูลสีลาจารนิวิฐ ภาวนากิจวิธานปรีชา ศาสนภารธุราทร ธรรมยุติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดสนามพราหมณ์ จังหวัดเพชรบุรี มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 8 รูป

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย.2566 ประกาศ ณ วันที่ 28 มิ.ย.2566

พระพรหมวชิรสุนทร (เอื้อม ชุตินธโร) เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่อีกรูปของจังหวัดเพชรบุรี ได้รับการยกย่องว่าเคร่งครัดระเบียบ พระธรรมวินัย มีวัตรปฏิบัติเรียบง่าย ปฏิปทางดงาม เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา

อีกทั้ง นับเป็นพระเถระรูปแรกของเพชรบุรีที่ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง

ปัจจุบัน สิริอายุ 89 ปี พรรษา 69 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสนามพราหมณ์ ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.เพชรบุรี และที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธ)

มีนามเดิม เอื้อม กลั่นเกลา เกิดเมื่อวันที่ 13 พ.ย.2477 ที่บ้านไสค้าน ต.ท่ายาง อ.เมือง จ.เพชรบุรี บิดา-มารดา ชื่อ นายเทิ้ม และ นางอ่วน กลั่นเกลา

ช่วงวัยเยาว์ ศึกษาจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนในชุมชน

อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2497 ที่วัดราษฎร์บำรุง ต.ท่ายาง อ.เมือง จ.เพชรบุรี มีพระสุทธิสารสุธี (ทอง จารุวังโส) เจ้าอาวาสวัดมหาสมณาราม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสุนทรธรรมวงศ์ (แสวง ปิยธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดสนามพราหมณ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายา ชุตินธโร

ตั้งใจศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างมุ่งมั่น สามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ และพ.ศ.2521 สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค

ได้รับความไว้วางใจจากเจ้าอาวาสวัดสนามพราหมณ์ขณะนั้น มอบหมายภารกิจให้สนองงาน ทั้งในด้านการปกครอง การศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และอื่นๆ

ด้านสาธารณูปการ ดูแลการบูรณปฏิสังขรณ์วัดสนามพราหมณ์ ให้มั่นคงถาวร ด้วยเป็นวัดเก่าแก่ แต่ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ก่อสร้าง และสร้างขึ้นนานเท่าใ

แต่มีเรื่องเล่าสืบต่อมาว่า วัดสนามพราหมณ์แห่งนี้ ผู้สร้างซึ่งเป็นสองสามีภริยา ได้อาศัยพราหมณ์ 3 คน ที่ถือเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้การบูรณะวัดแห่งนี้เสร็จสิ้นไปด้วยดี ซึ่งตอนนั้นอยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

เนื่องจากบริเวณที่สร้างวัดนี้ เคยเป็นที่ประกอบพิธีของพราหมณ์ทั้ง 3 คน อีกทั้งบริเวณดังกล่าว มีทั้งโบราณสถานโบราณวัตถุบางอย่างที่แสดงให้เห็นว่า เป็นที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับพราหมณ์ จึงมีผู้เรียกกันติดปากว่า “วัดสนามพราหมณ์”

ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2518 เป็นเจ้าอาวาสวัดสนามพราหมณ์ พ.ศ.2522 เป็นเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี (ธ) พ.ศ.2545 เป็นรองเจ้าคณะภาค 14-15 (ธ) พ.ศ.2545 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี (ธ)

พ.ศ.2561 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธ)

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2522 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญที่ พระสุทธิสารสุธี พ.ศ.2538 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นเพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสารสุธี

พ.ศ.2544 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธาภรณ์

พ.ศ.2556 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมวราภรณ์

ล่าสุด วันที่ 27 มิ.ย.2566 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ในราชทินนามที่ พระพรหมวชิรสุนทร

แม้ทุกวันนี้ พระพรหมวชิรสุนทร จะดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการชั้นผู้ใหญ่ แต่วัตรปฏิบัติยังคงเรียบง่ายดุจเดิม ยังคงให้การอบรมศีลธรรมแก่สาธุชนที่เข้ามาทำบุญฟังธรรมทุกวันพระ โดยเน้นให้ประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสอน เป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานในการดำรงชีวิตให้เป็นปกติสุขในสังคม

จึงนับเป็นมงคลอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ได้สัมผัสใกล้ชิดและได้รับฟังเทศนาธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน