วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก พระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร วัดคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลก ชาวบ้านเรียกว่า “วัดใหญ่”

เป็นสถานที่ประดิษฐาน “พระพุทธชินราช” พระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดองค์หนึ่ง และยังเป็นพระพุทธรูปที่ชาวไทยศรัทธาและนิยมเดินทางมากราบไหว้มากที่สุดเช่นกัน เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่า

นับแต่ “พระพรหมวชิรเจดีย์” (บำรุง ฐานุตตโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มรณภาพลง เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2565 พระอารามแห่งนี้ว่างเว้นเจ้าอาวาสมานาน

กระทั่งเมื่อวันที่ 20 ก.พ.2567 ในการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ครั้งที่ 5/2567 ทรงพระกรุณาโปรดแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัด และเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ตามพระลิขิตที่อ้างถึง ขอพระราชทานถวายพระพร ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยในการแต่งตั้งพระสังฆาธิการเจ้าอาวาสพระอารามหลวง โปรดเกล้าฯ ให้พระเทพรัตนมุนี (สุรชัย สุรชโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก

มงคลข่าวสด

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2567 พระพรหมโมลี (สุชาติ ธัมมรตโน) รักษาการเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เป็นประธานในพิธีมอบพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งให้พระเทพรัตนมุนี ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

ปัจจุบัน พระเทพรัตนมุนี สิริอายุ 60 ปี พรรษา 38 นอกจากดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุแล้ว ยังเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 5 ด้วย

มีนามเดิมว่า สุรชัย วิชชุกิจมงคล เกิดเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2507 ที่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร

ด้วยเป็นคนที่มีบุคลิกเรียบร้อยพูดน้อยมาตั้งแต่เด็ก และเป็นคนช่างสังเกต มีใจใฝ่ศึกษา มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย เมื่อมีอายุ 17 ปี เข้าพิธีบรรพชา ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อ.เมือง จ.พิษณุโลก มีพระราชรัตนรังษี (ทองปลิว โสรโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร และอดีตเจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก เป็นพระอุปัชฌาย์

เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2529 ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อ.เมือง จ.พิษณุโลก โดยมีพระราชรัตนรังษี (ทองปลิว โสรโต) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระพุทธิวงศมุนี เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระศรีรัตนมุนี วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูวิธานเรขกิจ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานามว่า “สุรชโย”

มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม แต่เนื่องด้วยการศึกษาในต่างจังหวัดยังไม่มีความพร้อม ทั้งการเรียนการสอนค่อนข้างจะลำบาก หลังจากสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค ท่านจึงตัดสินใจเดินทางไปศึกษาวิชาแผนกบาลีชั้นสูง ที่กรุงเทพฯ โดยมีโอกาสเข้าศึกษาต่อที่สำนักเรียนวัดสระเกศ ภายใต้การดูแลของพระเมธีสุทธิพงษ์ (ระวัง วชิรญาโณ) สามารถสอบไล่ได้เปรียญธรรมประโยค 6 และ 7 ตามลำดับ

ได้รับความไว้วางใจจากพระเถระผู้ใหญ่ในวัด มอบหมายให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ดูแลงานปกครอง และงานอื่นๆ อาทิ งานด้านการศึกษา พ.ศ.2562-2565 เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดสระเกศ

รางวัลเกียรติคุณ พ.ศ.2534 พุทธศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2540 เป็นพระครูปลัดสัมพิพัฒนธุตาจารย์ ฐานานุกรมในสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) พ.ศ.2544 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระปัญญาวชิราภรณ์

พ.ศ.2549 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชปัญญาโสภณ

พ.ศ.2557 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพรัตนมุนี

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2553 เป็นรองเจ้าคณะภาค 12 พ.ศ.2558 เป็นเจ้าคณะภาค 12 พ.ศ.2561 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสระเกศ พ.ศ.2564 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร

พ.ศ.2566 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 5

พ.ศ.2566 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ฝ่ายการปกครอง

ล่าสุด พ.ศ.2567 เป็นเจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

หลังดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เชื่อว่า พระเทพรัตนมุนี (สุรชัย สุรชโย) จะมุ่งมั่นปฏิบัติศาสนกิจอย่างเต็มกำลังความสามารถ เป็นที่เคารพนับถือของชาวเมืองสองแคว

เป็นศรีสง่าแห่งวัดพระอารามหลวงชนิดวรมหาวิหารโดยแท้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน