วันอังคารที่ 23 ก.ค.2567 น้อมรำลึกครบรอบ 101 ปี ชาตกาล “หลวงปู่สิงห์ วรุตตโม” วัดวิเวกการาม (แม่สูนน้อย) ต.แม่สูน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ อดีตพระเถราจารย์ที่ชาวเชียงใหม่ให้ความเคารพนับถือ
นอกจากเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ยังมีความเชี่ยวชาญด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานด้วย
เกิดเมื่อวันที่ 23 ก.ค.2466 ตรงกับวันศุกร์ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 เหนือ ปีกุน ที่บ้านแม่กุ้งก้อย ต.ทุ่งต้อง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เป็นบุตรคนโต มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันจำนวน 10 คน
วัยเยาว์มีสัมมาคารวะอ่อนน้อมถ่อมตนไม่มีนิสัยเกเรก้าวร้าว ชอบทำบุญสุนทาน ไม่รังแกสัตว์ ว่านอนสอนง่าย มีน้ำใจต่อเพื่อนๆ จึงเป็นที่เอ็นดูรักใคร่ของผู้ใหญ่
จบการศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านแม่กุ้ง ต.ทุ่งต้อง ต่อมาได้รับการบรรพชาในปี พ.ศ.2477 ที่วัดรัตนารามแม่กุ้งน้อย
มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม สอบได้นักธรรมชั้นตรีในปี พ.ศ.2479 ในตอนนั้นศึกษาอักษรธรรม (ตั๋วหนังสือเมือง) บท พระสูตรจนถึงสวดมนต์ทำวัตร
มีความสามารถพิเศษในการเทศนาธรรมมหาชาติแบบล้านนาได้อย่างชำนาญ เช่น เทศน์กัณฑ์กุมาร มัทรี ฉกษัตริย์ และการสวดเบิกเนตรทำนองแบบล้านนา
มีโอกาสเดินทางไปกราบครูบาศรีวิชัย โดยขึ้นขี่หลังพ่อเดินทางเป็นวันเพื่อไปกราบครูบาศรีวิชัย เพราะพ่อได้ไปช่วยใช้แรงงานในการสร้างพระธาตุหริภุญชัยลำพูน
ครูบาศรีวิชัยเรียกตุ๊อุ้ยสิงห์ขณะนั้นว่า “เณรน้อย” และยังเรียกให้ไปรับของที่ศรัทธาเอามาถวายด้วย
พ.ศ.2487 ลาสิกขา ออกมาใช้ชีวิตเป็นคฤหัสถ์ แต่งงานอยู่ ครองเรือนกันมาจนมีลูก 5 คน
เมื่อปี พ.ศ.2505 อพยพครอบครัวเดินทางมาปักหลักอยู่ที่บ้านแม่สูนน้อย ต.แม่สูน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ในสมัยนั้นความเจริญยังมาไม่ถึง การสัญจรไป-มาต้องเดินเท้าหรือใช้วัวควายเทียมเกวียน เมื่อมาปักหลักอยู่ที่แม่สูนน้อย ประกอบอาชีพหาของป่า ทำการเกษตร และรับจ้างเพื่อเลี้ยงครอบครัว จนลูกเติบโตและมีครอบครัวกันหมด
พ.ศ.2538 ขณะนั้นอายุ 72 ปี รู้สึกเบื่อหน่ายชีวิตแบบคฤหัสถ์ จึงสละทางโลกเข้าศึกษาพระธรรมอีกรอบ เข้าร่วมบรรพชาอุปสมบทในโครงการบวชหมู่ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จย่า ซึ่งตรงกับวันที่ 25 ต.ค.2538 ที่พัทธสีมาวัดนันทราราม โดยมีพระครูธรรมทิน เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรืองและเจ้าคณะอำเภอฝางเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิสิฐปุญญาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดนันทรารามเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูคำปัน ปภัสสโร เจ้าอาวาสวัดดอยแก้ว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า วรุตตโม
ตลอดระยะเวลาที่อยู่จำพรรษา ตั้งใจศึกษาพระธรรมคำสอนของพระศาสดา ชอบปฏิบัติสวดมนต์เช้า-เย็น หมั่นเจริญภาวนาแผ่เมตตาอย่างต่อเนื่องมิได้ขาด
ด้านวัตถุมงคล สร้างลูกสมอหรือตะกรุดใบลาน ด้วยการเขียนจารอักขระภาษาล้านนาที่ได้รับการสืบทอดมาจากพ่ออุ้ยมา ถือเป็นเครื่องรางของขลังที่เด่นรอบด้าน
ต่อมาเริ่มอาพาธมีโรคประจำตัวหลายโรค ท้ายที่สุดมรณภาพเมื่อวันที่ 16 พ.ค.2561
สิริอายุ 95 ปี พรรษา 22