คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชาวเมืองเพชรบูรณ์ ถึงกาลสูญเสีย ด้วย “พระครูอดุลพัชราภรณ์” หรือ “หลวงปู่อำคา ถาวโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดประชานิมิต อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ และที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ละสังขารอย่างสงบ ด้วยวัยวุฒิ 98 ปี พรรษา 78 เมื่อเวลา 16.08 น. ช่วงเย็นวันที่ 10 ก.พ.2568

หลังเข้ารักษาอาการอาพาธด้วยโรคชรา ณ โรงพยาบาลวิเชียรบุรี โดยอาการทรงและทรุดมาตลอด ก่อนจะมรณภาพอย่างสงบ สร้างความเศร้าสลดอาลัยเป็นอย่างยิ่ง

เป็นพระเกจิชื่อดังและยังเป็นพระนักพัฒนา ที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย

เดิมชื่อ อำคา หอมมาลา เกิดเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2470 ตรงกับวันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ ที่บ้านเลขที่ 97 หมู่ 8 ต.หนองพลวง อ.ประทาย จ.นครราชสีมา บิดา-มารดา ชื่อ นายบาง และนางไฝ หอมมาลา

อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2490 ที่วัดหันห้วยทราย ต.หันห้วยทราย อ.ประทาย จ.นครราชสีมา โดยมี พระครูวิโรจนคุณ วัดหันห้วยทราย ต.หันห้วยทราย เป็นพระอุปัชณาย์ ได้รับฉายาว่า ถาวโร

มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม จนสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ ที่สำนักศาสนศึกษาวัดสวัสดี สำนักเรียนคณะจังหวัดขอนแก่น เมื่อปีพ.ศ.2494

หลังจากนั้นเดินทางกลับมายังบ้านเกิดอีกครั้ง และเมื่อวัดหนองค่าย ต.หนองค่าย อ.ประทาย ไม่มีพระอยู่จำพรรษา ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ให้มาจำพรรษา และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสพร้อมกับได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบล เขต 2

พ.ศ.2502 ออกเดินธุดงค์ผ่านดงพญาเย็น มายัง อ.วิเชียรบุรี และอยู่จำพรรษาที่วัดหนองสองห้อง (ชื่อเดิมของวัดประชานิมิต)

มงคลข่าวสด - อาลัย‘หลวงปู่อำคา พระเกจิดังเพชรบูรณ์

หลวงปู่อำคา ถาวโร

 

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2507 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลท่าโรง อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ พ.ศ.2518 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดประชานิมิต

พ.ศ.2518 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอวิเชียรบุรี พ.ศ.2550 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอวิเชียรบุรี

พ.ศ.2564 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์

เป็นพระเถระผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล งานด้านการศึกษา ให้ความสำคัญกับการศึกษาของพระภิกษุสามเณรเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากมโนปณิธานว่าตัวท่านไม่ได้เรียนสูง จบเพียงนักธรรมชั้นเอก แต่ขอให้ลูกศิษย์ลูกหาได้เล่าเรียนอย่างเต็มความสามารถที่จะเรียนได้ จึงได้เปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม บาลี และแผนกสามัญศึกษา และส่งเสริมสนับสนุนให้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โท เอก อย่างต่อเนื่อง

งานปกครองนั้น เป็นพระเถระผู้มีเมตตาสูงยิ่ง ได้ใช้กุศโลบายในการปกครองโดยทำให้ดูเป็นตัวอย่าง พ่อปกครองลูก ดำรงตนอยู่ในพรหมวิหารธรรมทั้ง 4 ประการ และประพฤติตนตามหลักของครูที่ดี ข้อวัตรปฏิบัติเป็นที่เคารพเลื่อมใสของผู้พบเห็น จนได้รับการถวายปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพระพุทธศาสนา จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในปีพ.ศ.2554

ทุ่มเททำงานเพื่อพระศาสนาตลอดระยะเวลาพรรษาที่ดำรงเพศบรรพชิต ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา

มักจะสอนลูกศิษย์เสมอว่า “ความเป็นสิริมงคล คุณงามความดีต่างๆ นั้น ต้องเกิดจากตัวเราเองก่อน ถ้าหากเราทำดีแล้ว พระก็จะอยู่กับตัวเรา ความดีก็จะเกิดกับตัวเรา แล้วเราจะได้รับผลของการทำดีนั้น แต่ถ้าหากเราทำชั่ว พระก็จะไม่อยู่กับเรา ความไม่ดีก็จะเกิดกับตัวเรา เราก็จะต้องได้รับผลของความชั่วนั้น ไม่ช้าก็เร็ว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”

ด้วยอายุขัยที่ล่วงเลยเข้าสู่วัยชราภาพ สุขภาพไม่แข็งแรงดังเดิม กระทั่งอาพาธเป็นประจำ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง

กระทั่งต่อมาร่างกายอ่อนเพลีย คณะศิษยานุศิษย์ได้นำส่งเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลวิเชียรบุรี ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ม.ค.2568 แต่เนื่องจากชราภาพ จึงละสังขารด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันจันทร์ที่ 10 ก.พ.2568

สร้างความเศร้าโศกอาลัยแก่ศิษยานุศิษย์และชาวเพชรบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน