การปรากฏชื่อ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ในฐานะผู้เสนอตัวเข้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก็มากด้วยสีสันทางการเมืองอยู่แล้ว

แต่พลันที่ปรากฏชื่อ นายอลงกรณ์ พลบุตร

ปฏิกิริยาอันมาจาก นายวัชระ เพชรทอง ทำให้ลีลาและจังหวะก้าวของ นายอลงกรณ์ พลบุตร มากด้วยสีสันเป็นทวีคูณ

ทั้งๆ ที่บทบาทของ นายอลงกรณ์ พลบุตร กับ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ไม่แตกต่างกันมากนัก

แต่ปฏิกิริยาอันมาจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประสานเข้ากับจาก นายวัชระ เพชรทอง ทำให้กรณีของ นายอลงกรณ์ พลบุตร ทวีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ทำให้สังคมต้องจับตา นายอลงกรณ์ พลบุตร

ระหว่าง นายอลงกรณ์ พลบุตร กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีลักษณะ “ร่วม” ในทางการเมืองซึ่งไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด

2 คนนี้เคยเป็นคนของ นายชวน หลีกภัย

เพียงแต่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ทำงานกับ นายชวน หลีกภัย ขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ขณะที่ นายอลงกรณ์ พลบุตร ทำเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่พลันที่ นายชวน หลีกภัย เลือกที่จะยืนอยู่เรียงเคียงข้างกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระยะห่างของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และของ นายอลงกรณ์ พลบุตร จึงเกิดขึ้น

โดยเฉพาะระยะหลังสถานการณ์เดือนพฤษภาคม 2557

บทสรุปของ นายวัชระ เพชรทอง ที่ว่าการเสนอตัวเข้ามาของ นายอลงกรณ์ พลบุตร สะท้อนความต้องการของคสช.ที่จะเข้าไปมีบทบาทในพรรคประชาธิปัตย์

แสดงว่าฐานะของ นายอลงกรณ์ พลบุตร ก่อให้เกิดความหวั่นไหว

แสดงว่าการสัประยุทธ์ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เท่ากับเป็นการปะทะระหว่าง นายชวน หลีกภัย กับคสช.

ทั้งๆ ที่จริงแล้วมิได้รุนแรงถึงระนาบนั้น

เพราะไม่ว่า นายชวน หลีกภัย ไม่ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ล้วนเคยร่วมเป่านกหวีดกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพียงแต่ว่าตอนนี้ 2 คนนี้ยังต้องการรักษาพรรคประชาธิปัตย์เอาไว้

ไม่ต้องการให้ไปสยบอยู่แทบเท้า “คสช.” อย่างสิ้นเชิงเท่านั้น

พรรคประชาธิปัตย์อาจเคยเห็นร่วมกับกปปส. อาจเคยเห็นร่วมว่าการเข้ามาของคสช.เป็นผลดีเพราะว่าเป้าหมายของพรรคประชาธิปัตย์คือพรรคเพื่อไทย

แต่เมื่อหมด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไป

พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องการให้ผลทางการเมืองนั้นเป็นผลดีกับพรรคประชาธิปัตย์มิใช่เป็นผลดีกับคสช. พรรคประชาธิปัตย์ต้องการเข้าไปแทนที่พรรคเพื่อไทย

และแนวทาง นายชวน หลีกภัย คือสิ่งที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เลือก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน