วิเคราะห์การเมือง : 2 แนว การเมือง “เอา” หรือ “ไม่เอา” คสช. นับวัน ยิ่งแจ่มชัด

วิเคราะห์การเมือง : อย่าว่าแต่การเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล แห่งพรรคภูมิใจไทย อย่าว่าแต่การเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แห่งพรรคประชาธิปัตย์

ความหมายก็เหมือนกับการเสนอตัวของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แห่งพรรคอนาคตใหม่

ความหมายก็เหมือนกับการเสนอตัวของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และหรือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แห่งพรรคเพื่อไทย

เป้าหมายอยู่ที่การสู้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ความหมายอย่างลึกซึ้งก็คือ การประกาศความชัดเจนที่จะไม่เปิดทางให้คสช.ได้สืบทอดอำนาจผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นี่คือ ทิศทางและเส้นทางของ “การเลือกตั้ง” ครั้งนี้

 

มีความพยายามจะแทง “กั๊ก” ไม่ว่าจะมาจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา หรือพรรคชาติพัฒนา ว่าจะรอตัดสินใจอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง

เหมือนกับเป็นทางออกที่ชาญฉลาดของพรรคการเมือง

บางพรรคอย่างเช่นพรรคประชาธิปัตย์ถึงกับประกาศไม่ยอมร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยเพราะมองเห็นว่าเป็นหุ่นเชิดของ “ระบอบทักษิณ”

แต่พลันที่ประกาศไม่ยอมรับนายกรัฐมนตรี “คนนอก” ก็ชี้เบาะแสบางประการออกมาแล้ว

เว้นก็แต่ความแข็งขันในการต่อต้านนายกรัฐมนตรี “คนนอก” เสมอเป็นเพียงลมปากและนับวันการแทงกั๊กผ่านการรอผลการเลือกตั้งยิ่งขึงขัง

นั่นก็เท่ากับพร้อมที่จะแบะท่าให้กับ “คสช.” แล้ว

 

ปัจจุบัน มีท่าที 3 ท่าทีดำรงอยู่บนเส้นทางการเลือกตั้ง 1 คือ เส้นทางแบบพรรคพลังประชารัฐ นั่นก็คือ ทำทุกอย่างเพื่อให้อำนาจยังอยู่ในมือของคสช.

1 คือ เส้นทางแบบพรรคเพื่อไทย นั่นก็คือ ทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้คสช.ได้สืบทอดอำนาจ

ไม่ว่าแนวทางสืบทอดอำนาจของคสช. ไม่ว่าแนวทางคัดค้านและต่อต้านแนวทางสืบทอดอำนาจของคสช.ล้วนมีเสียงสนับสนุนที่เด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

“สถานการณ์” ในแต่ละห้วงนั่นแหละจะเป็นปัจจัยกำหนด

พรรคการเมืองที่แทง “กั๊ก” นับวันจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่จำเป็นต้องตัดสินใจว่าจะก้าวไปหนทางสายใด จะก้าวเข้าไปอยู่ในแนวเดียวกันกับคสช. หรือว่าจะค่อยๆ ก้าวไปอยู่ในแนวทางตรงกันข้าม

“กระแส” อันมาจาก “สังคม” นั่นแหละจะเป็นปัจจัยกดดัน

 

ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าพรรคชาติพัฒนา จำเป็นต้องเลือกและตัดสินใจ

จะทำ “หล่อๆ” ลอยไป ลอยมาไม่ได้อีกแล้ว

การเมืองนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ประสานกับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มากด้วยความเข้มข้นระหว่าง 2 แนวทาง

1 แนวทางรัฐประหาร แนวทางเผด็จการ 1 แนวทางประชาธิปไตย ต่อต้านรัฐประหาร

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน