บทบาท การเมือง

บทบาท “อนาคตใหม่”

หลัง การเลือกตั้ง

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

บทบาท การเมือง – บทบาทของพรรคอนาคตใหม่กำลังสร้างจุดเปรียบเทียบอย่างแหลมคมยิ่งกับพรรคการเมืองอื่นมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

ไม่ว่าก่อน ไม่ว่าหลังการเลือกตั้ง

ท่วงทำนองที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล กับ น.ส.พรรณิการ์ วานิช ออกมาตอบโต้ นายอุตตม สาวนายน กับ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ คือตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ

นี่ย่อมไม่เคยปรากฏมาก่อนในทางการเมือง

นั่นก็คือ การเปิดคลิปเสียง นายอุตตม สาวนายน กับ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ แล้วตอบกันอย่างทันคำ ทันความ สัมผัสได้โดยตรง

คล้ายกับว่า การออกโรงของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล กับ น.ส.พรรณิการ์ วานิช เป็นการออกมาปกป้องต่อประเด็นมีการโจมตีปรากฏการณ์ “ปฏิญญา แลงคาสเตอร์”

หากฟังตั้งแต่ต้นจนจบก็จะรู้ว่า ไม่ใช่

คล้ายกับว่า การออกโรงของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล กับ น.ส.พรรณิการ์ วานิช เป็นการปกป้องท่าทีและจังหวะก้าวการเคลื่อนไหวของพรรคอนาคตใหม่

หากฟังตั้งแต่ต้นจนจบก็จะรู้ว่า ไม่ใช่

เพราะทั้งหมดเป็นการวิวาทะในเชิงความคิด ในเชิงการเมือง ตั้งแต่เหตุผลของการก่อรูปแห่งแนวร่วม ตั้งแต่การอธิบายเรื่องประชาธิปไตยและเผด็จการ

พรรคการเมืองส่วนใหญ่ดำเนินการจัดตั้งพรรค เพื่อการเลือกตั้งอย่างที่เรียกกันว่า “พรรคสภา” เมื่อจบสิ้นภารกิจในการเลือกตั้งภารกิจของพรรคก็จบสิ้นไปด้วย

แต่พรรคอนาคตใหม่มิได้จัดตั้งเพื่อการนั้นอย่างเดียว

การต่อสู้เพื่อชิงชัยให้คนของพรรคได้รับเลือกเป็นภารกิจหนึ่ง แต่ภารกิจด้านหลักคือการปักธงในทางความคิด ในทางการเมือง

เมื่อผ่านการเลือกตั้งไปแล้วก็ยังต้องต่อสู้ เคลื่อนไหว

พลันที่เห็นว่าคำแถลงจาก นายอุตตม สาวนายน กับ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ มีปัญหาก็จำเป็นต้องตอบโต้ด้วยอรรถาธิบายที่เป็นหลักการมากยิ่งกว่า

ไม่ว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ว่า นายปิยบุตร แสงกนกกุล ล้วนตอกย้ำและยืนยันมาอย่างต่อเนื่องว่างานของพวกเขามิได้อยู่แต่เพียง เรื่องเลือกตั้ง

เฉพาะหน้า คือการเคลื่อนไหวในเรื่อง “รัฐธรรมนูญ”

เฉพาะหน้า คือการกำหนดภารกิจไปยังสาขาพรรคที่มีอยู่ 77 จังหวัดทั่วประเทศเพื่อรณรงค์ให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการรื้อและสร้าง รัฐธรรมนูญขึ้นใหม่

ความเข้มข้นทางการเมืองจึงมิได้จบสิ้นเพียงการเลือกตั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน