เข้าใจ เห็นใจ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ด้านเศรษฐกิจ

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

เหมือนกับปัญหาที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประสบกับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจแต่ละกระทรวงจะเป็นปัญหาใหม่ ปัญหาอันเพิ่งเกิดขึ้น

ไม่ใช่หรอก

ปัญหาที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประสบในเรื่องการประสานงานเป็นปัญหาอย่างเดียวกับที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เคยประสบและสรุปออกมาสั้นๆ ว่า

เป็นปัญหาอันเนื่องจาก “แบ่งแยกแล้วปกครอง”

หากย้อนกลับไปศึกษาครม.เศรษฐกิจยุค ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล เปรียบเทียบกับครม.เศรษฐกิจยุค นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็จะประจักษ์ในสภาพความ เป็นจริง

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ใหม่หมาด

สังคมมองว่าเป็นคนดูแลงานด้าน “เศรษฐกิจ”

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อาจประสานไปยังกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงานได้ แต่ก็ยังมีปัญหากับบางกระทรวง

เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม

เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นสายตรงกับนายกรัฐมนตรี เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นสายตรงกับนายกรัฐมนตรี

เมื่อเห็นว่าการเป็นรองนายกรัฐมนตรีของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นปัญหาก็ต้องมีการปรับครม. แต่งตั้ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาเป็นแทนในเดือนสิงหาคม 2558

ผลก็แทบมิได้แตกต่างกัน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อาจประสานไปยังกระทรวงการคลัง ไปยังกระทรวงพาณิชย์ ไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมได้

แต่ก็ยังมีหลายกระทรวงที่ทำไม่ได้

เพราะว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็เป็นสายตรงกับนายกรัฐมนตรี เพราะว่ากระทรวงคมนาคมก็ยังสายตรงกับนายกรัฐมนตรี

ความสำเร็จและความล้มเหลวทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 กระทั่งมาถึงก่อนเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ก็เป็นเช่นนี้

ไม่ว่าจะเป็น “หม่อมอุ๋ย” ไม่ว่าจะเป็น “สมคิด”

เพราะในที่สุดแล้ว รองนายกรัฐมนตรีก็เพียงแต่แตะเข้าไปได้บางกระทรวง และด้านหลักอยู่ในการกำกับ และควบคุมโดยนายกรัฐมนตรี

เมื่อก่อนเป็นเช่นนี้ วันนี้ก็เป็นเช่นนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน