ชกไม่มีมุม

วงค์ ตาวัน

หลายวันมานี้ มีการจัดกิจกรรมไว้อาลัย สะท้อน ความรู้สึกผู้สูญเสีย และคำยืนยันจะทวงถามความเป็นธรรมกันต่อไป ถ้าประเทศนี้ไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับคนตาย ในเหตุการณ์ที่มีคนโดนเข่นฆ่ามากมายในใจกลางเมืองหลวงได้

เนื่องจากเหตุการณ์ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 นั้น มีคนตายมากถึง 99 ศพ

ตลอดเวลากว่าเดือน มีผู้คนทยอยถูกยิงล้มคว่ำ ตาม จุดต่างๆ

โดยฝีมือของหน่วยสไนเปอร์ที่ปกติเขาใช้ ในสงครามเท่านั้น ไปจนถึงฝีมือของเจ้าหน้าที่ บนรางรถไฟฟ้า บนตึกสูง ไปจนถึงบนพื้นราบ

ทั้งหมดนี้ไม่ได้กล่าวหาลอยๆ แต่เต็มไปด้วยภาพถ่าย คลิปวิดีโอ เห็นตอนทีมซุ่มยิงสั่งการและสนทนากัน ทุกคำพูด

สำคัญสุดคือวิดีโอที่ตำรวจถ่ายไปยังบริเวณวัดปทุมวนาราม เมื่อเย็นวันที่ 19 พฤษภาคม

เป็นหลักฐานชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ทหารศอฉ. เล็งยิงเข้าไปในวัด โดยไม่มีการยิงสู้จากอีกฝ่าย!

เพราะเหตุการณ์ในปี 2553 นั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ ตั้งศอฉ.ขึ้นมาแก้ไขสถานการณ์ แล้วให้ใช้หน่วยทหารแทนที่จะใช้ตำรวจปราบจลาจล

ด้วยข้ออ้างที่ว่า เพราะมีชายชุดดำ มีผู้ก่อการร้าย ปะปนอยู่กับผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ศอฉ.สามารถใช้กระสุนจริงได้ เพื่อป้องกันตัว

แต่ลงเอยคนตายทั้งหมด ไม่มีชายชุดดำแม้แต่ ศพเดียว!!

มีเด็กเล็กๆ อย่างด.ช.อีซา มีเด็กโตอย่างน้องเฌอ วัย 17 ปี มีเจ้าหน้าที่พยาบาลอาสาหญิง น.ส.กมนเกด หรือ น้องเกด อัคฮาด และชาวบ้านอีกมากมาย

รวมไปถึงพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ที่ถูกยิงด้วยสไนเปอร์ ตายขณะแต่งชุดทหารให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศ!

อีกทั้ง 99 ศพนี้ ได้มีการทำสำนวนไต่สวนชันสูตรศพ ส่งศาลให้พิจารณา

ศาลได้ทยอยชี้ผลการไต่สวนแล้ว 17 รายว่า ตายด้วยปืนฝั่งเจ้าหน้าที่ศอฉ. ตายด้วยปืนจากเจ้าหน้าที่ศอฉ.

โดยเฉพาะ 6 ศพวัดปทุมฯ หลักฐานมากมาย ศาลชี้ได้ว่าตายด้วยปืนเจ้าหน้าที่ศอฉ.บนรางรถไฟฟ้า และอีกชุดที่ยิงจากพื้นราบหน้าวัด มีชื่อเจ้าหน้าที่ มีชื่อหน่วยครบ

แต่วันนี้ไม่มีคดีอะไรเลย!?

ทุกศพมีญาติมิตรลูกเมียพ่อแม่

ทุกคนรู้ดีว่าคนตายไปร่วมชุมนุมในฐานะคนเสื้อแดง มาจากจังหวัดต่างๆ ภาคเหนือ อีสานและภาคกลาง ไม่มีใครเป็นผู้ก่อการร้าย

ผ่านมา 8 ปี คดียังไม่อยู่ในระบบของกระบวนการยุติธรรม แล้วจะไม่ให้เขาทวงถามได้อย่างไร

อีกประการ คดีเหล่านี้สะดุดและชะงักงัน นับตั้งแต่ ปี 2557 เป็นต้นมา

ใครนำม็อบ นำไปสู่การรัฐประหาร และเกี่ยวพันกับคดี 99 ศพหรือไม่!??

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน