“วงค์ ตาวัน”

ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือศอฉ. คือหน่วยงานสำคัญที่ตั้งขึ้นมา เพื่อควบคุมและบัญชาการในเหตุการณ์สลายม็อบปี 2553 ที่ลงเอยมีคนตายถึง 99 ศพ ซึ่งฝ่ายการเมืองที่มีบทบาทในศอฉ.ก็คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

ส่วนฝ่ายทหารก็คือผู้นำกองทัพในขณะนั้น

และก็คือกลุ่มแกนนำกองทัพที่ก่อรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นกลุ่มเดียวกันกับแกนนำคสช. ซึ่งก็คือผู้กุมอำนาจในรัฐบาลคสช.ปัจจุบัน

เห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยในปี 2557 จุดชนวนโดยม็อบกปปส. ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ

พอรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยอมถอย ยอมยุบสภาให้เลือกตั้ง แต่แกนนำกปปส.ไม่ยอมเลือกแนวทางนี้ อ้างว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็คือการทำให้เข้าสู่ทางตัน ลงเอยให้ทหารออกมายึดอำนาจ

ทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นเครือข่ายเดียวกันในเหตุการณ์ 99 ศพ ในนามศอฉ.ยุคนั้นนั่นเอง!

นายสุเทพและแกนนำกองทัพ ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กันในศอฉ.

ร่วมกันในเหตุการณ์ปี 2557 นำมาสู่รัฐบาลคสช.ที่กุมอำนาจในวันนี้

นี่ไงปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

น่าคิดว่า รวมถึงการปฏิรูปคดี 99 ศพ ก่อนเลือกตั้งด้วยหรือไม่!?

ไม่เท่านั้น รัฐบาลคสช. ก็เตรียมตัวจะอยู่ในอำนาจต่อไปหลังเลือกตั้งหนหน้า

ขณะที่นายสุเทพ ก็ตั้งพรรคขึ้นมา เพื่อร่วมหนุนให้กลุ่มอำนาจคสช.อยู่ต่อไปด้วย

เท่ากับว่า เครือข่ายจากอดีตศอฉ. จะยังคงผนึกกันต่อไปอีกในการเมืองหลังเลือกตั้ง!

กล่าวสำหรับบรรดาญาติมิตรของคนที่เสียชีวิต 99 ศพ ที่ยังคงเดินหน้าให้กระบวนการยุติธรรมนำเรื่องนี้ขึ้นมาพิสูจน์ความจริง ด้วยพยานหลักฐานอันเปิดเผย

ฝ่ายผู้สูญเสียที่ถูกผู้มีอำนาจในยุคนั้นกล่าวหาสารพัด

กลับเป็นฝ่ายที่ดิ้นรนไม่สิ้นสุด เพื่อให้พิสูจน์ความจริงอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา!!

ขณะที่ฝ่ายผู้มีอำนาจในปี 2553 นั่นเอง ที่ไม่เคยแสดงความกล้าหาญจะให้มีการพิสูจน์ความจริง 99 ศพ ผ่านกระบวนการยุติธรรม

ตอนนี้ช่องทางในด้านกฎหมายก็ยังพอมีอยู่ ซึ่งบรรดาญาติของผู้เสียชีวิต ยืนยันจะต้องดำเนินต่อไป

การต่อสู้ทางกฎหมายก็ต้องไม่จบ

ขณะที่การต่อสู้ทางการเมืองก็คงควบคู่กันอีก ทางหนึ่ง

การต่อสู้ในทางการเมืองที่จะแสดงออกเพื่อ ทวงความยุติธรรมผ่านสนามเลือกตั้ง!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน